กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท แก้ภัยแล้ง จ.หนองบัวลำภู พื้นที่รับประโยชน์ 12,417 ไร่

นายศศิน พัฒนภิรมย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นประธานเปิดการประชุมปัจปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน จังหวัดหนองบัวลำภู ภายใต้โครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จังหวัดหนองคาย ซึ่งจัดโดยกรมชลประทาน ณ ศาลาการเปรียญวัดท่าลี่ ตำบลบ้านหยวก อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี

รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า กรมชลประทานได้มีการศึกษาความเป็นไปได้โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู โดยในปี 2563 กรมชลประทานได้มีการศึกษาโครงการความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยโมง ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย ซึ่งได้มีการพิจารณาวางโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ในพื้นที่ตำบลบุญทัน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู และตำบลน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ตามแผนการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยโมง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตร และอุปโภคบริโภค รวมถึงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำห้วยโมงตอนบน ตามคำร้องขอจากนายอุทัย พุทธโก ผู้ใหญ่บ้านตำบลบุญทัน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูมีแหล่งน้ำที่สำคัญ 2 แห่ง คือ ลำน้ำเสบียง และลำน้ำห้วยโมง ไหลลงสู่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง เนื่องจากมวลน้ำที่ไหลผ่านอำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู และอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย มีความแรงและเร็วมาก จึงไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอสุวรรณคูหาได้รับผลกระทบประสบปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ราบ สร้างความเสียหายจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้กรมชลฯ ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน จังหวัดหนองบัวลำภู ตั้งอยู่ในเขตตำบลบุญทัน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู และตำบลบ้านหยวก อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ทั้งนี้ ในส่วนของจังหวัดหนองบัวลำภูก็อยากจะให้มีการก่อสร้างโครงการดังกล่าวอย่างรวดเร็ว เพราะชาวบ้านจะได้รับประโยชน์ และในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีก็จะมีน้ำกินน้ำใช้ เพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร สามารถแก้ปัญหาน้ำมาเร็วไปเร็ว ช่วยลดผลกระทบน้ำท่วม และในระยะยาวมีแผนจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศ จึงอยากให้กรมชลฯ เร่งรัดดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนานให้เร็วที่สุด ซึ่งในวันนี้มีชาวบ้านจำนวนมากมาร่วมแสดงความคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะต่างๆ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อโครงการและสอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้าน เกิดประโยชน์แก่ชาวบ้านในพื้นที่ ขอให้การดำเนินงานในโครงการนี้สำเร็จโดยเร็ว

“โครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างมาก สำหรับการกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ โดยภาพรวมในจังหวัดหนองบัวลำภูมีพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมาก เป็นเมืองเกษตรมูลค่าสูง จากข้อมูลพบว่ามีพื้นที่เกษตรกรรมในเขตชลประทานเพียง 7% เท่านั้น เพราะฉะนั้นการสร้างแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร และอุปโภคบริโภค ผมเชื่อมั่นว่าชาวบ้านมีความต้องการแหล่งน้ำอย่างมาก เพราะไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำเลย อีกทั้งเราไม่มีคลองชลประทานเหมือนภาคกลาง ถึงแม้จะมีลำห้วยหรือสถานีสูบน้ำก็ยังไม่เพียงพอ แต่ลำห้วยโมงยังไม่มีฝายหรือสถานีสูบน้ำที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ คิดว่าชาวบ้านต้องการมาก เพื่อความอยู่ดีกินดี เกษตรกรจะได้มีน้ำกินน้ำใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค” รองผู้ว่าฯ หนองบัวลำภู กล่าว

นายศศิน กล่าวอีกว่า ภายหลังจากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ ชาวบ้านก็ต้องปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ในขณะที่ปัจจุบันผลผลิตทางการเกษตรของจังหวัดหนองบัวลำภู ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา แต่ในอนาคตถ้ามีแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น ชาวบ้านก็สามารถเพิ่มผลผลิตด้วยการปลูกไม้พืช ไม้ผล มาแซมเป็นไร่นาสวนผสม โดยไม่ต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างเดียว หรือปลูกพืชเศรษฐกิจเพิ่มมูลค่า ชาวบ้านจะได้มีช่องทางทำการเกษตรเพิ่มขึ้น พัฒนาปรับปรุงพันธุ์หรือผลิตเป็นอาหารแปรรูป ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้มากขึ้น

ด้านนายครรชิต ชิงจันทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม สำนักงานจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า อยากให้กรมชลประทานกำหนดขอบเขตการจัดทำโครงการที่ชัดเจน เพื่อจะได้ทราบว่ามีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินจำนวนกี่ครัวเรือน ซึ่งจะมีผลต่อการจ่ายค่าชดเชยที่เป็นธรรม รวมถึงการขออนุญาตการใช้พื้นที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยคะนานเป็นไปตามแผนที่กำหนด ประชาชนจะได้รับประโยชน์ เพื่อให้ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้นและความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรอย่างยั่งยืนต่อไป

นายอุทัย พุทธโก กำนันตำบลบุญทัน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวด้วยว่า ปัญหาของตำบลบุญทันก็คือภัยแล้ง โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งจะลำบากมาก ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านร้องขอให้มีการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร ต่อมาทางกรมชลประทานได้เข้ามาสำรวจพื้นที่ พบว่าต้องทำหลายฝาย ซึ่งชาวบ้านมองว่าพื้นที่ตรงนี้เหมาะสำหรับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเหมือนกับพื้นที่อื่นๆ ชาวบ้านจึงร่วมมือกันผลักดันให้มีโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยคะนานเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ชาวบ้านหลายตำบลจะได้ใช้น้ำร่วมกันและจะได้รับประโยชน์จากการใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยคะนานอย่างมาก คาดว่าจะได้ทำการเกษตรเพิ่มขึ้น ถ้ามีแหล่งน้ำเพิ่มขี้น เกษตรกรก็จะสามารถปลูกผัก ทำสวนผลไม้เพิ่มขึ้น เช่น เงาะ ทุเรียน ยางพารา ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยให้เกษตรกรอยู่ดีกินดี และดีใจที่มีโครงการดีๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวนี้

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า จากคำร้องขอผู้ใหญ่บ้านตำบลบุญทัน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค และปัญหาเรื่องอุทกภัยในลุ่มน้ำห้วยโมงตอนบน กรมชลประทานได้พิจารณาวางโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ในพื้นที่ตำบลบุญทัน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู และตำบลน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นโครงการในลำดับที่ 4 ตามแผนการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยโมง หลังจากปี 2563 ที่ได้ศึกษาโครงการความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยโมง จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย ซึ่งมีกรอบแนวคิดในการศึกษาและกำหนดทางเลือก รูปแบบในการพัฒนาโครงการโครงการไว้ 3 ทาง ได้แก่ 1) บริหารจัดการโดยใช้สิ่งก่อสร้างเดิม ลักษณะเป็นฝายทดน้ำจำนวน 3 แห่ง แต่เป็นการก่อสร้างเฉพาะแห่ง โดยสำนักชลประทานที่ 5 ส่งผลให้สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้แค่บางส่วนเท่านั้น จากพื้นที่เกษตรทั้งหมดประมาณ 400 ไร่  2) การก่อสร้างฝายทดน้ำเพิ่มเติม ตามสภาพภูมิประเทศสามารถก่อสร้างได้จำนวน 7 แห่ง เมื่อรวมกับที่ก่อสร้างไว้แล้ว 3 แห่ง จะรวมจำนวนทั้งสิ้น 10 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำไว้หน้าฝายรวมทั้งสิ้นประมาณ 507,500 ลบ.ม. ส่งน้ำให้แก่พื้นที่รับประโยชน์รวมทั้งสิ้น 1,490 ไร่ 3) พิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยคะนานพร้อมระบบส่งน้ำ ตำแหน่งที่ตั้งอ่างเก็บน้ำของโครงการอยู่หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 8 ตำบลบุญทัน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู และหมู่ที่ 15 ตำบลบ้านหยวก อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ลักษณะเป็นเขื่อนดิน สันเขื่อนกว้าง 8 เมตร ตัวเขื่อนยาว 713.88 เมตร ตัวเขื่อนสูง 23 เมตร มีความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 16.10 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำให้แก่พื้นที่รับประโยชน์รวมทั้งสิ้น 12,417 ไร่ หมู่บ้านที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 12 หมู่บ้าน 4 ตำบล 2 อำเภอ 2 จังหวัด

จากการศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกในการพัฒนาโครงการ พบว่าการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยคะนานพร้อมระบบส่งน้ำ ตามทางเลือกที่ 3 จะมีความเหมาะสมต่อการพัฒนาโครงการมากที่สุด เนื่องจากเป็นทางเลือกที่มีแหล่งน้ำต้นทุนที่ถาวรและมั่นคง พร้อมระบบชลประทานสามารถส่งและกระจายน้ำให้แก่ราษฎรในเขตพื้นที่รับประโยชน์ได้ทั่วถึง สามารถใช้เพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค และอื่นๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ นอกจากนี้ ราษฎรยังปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นได้ ถือเป็นแนวทางยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

นายสุรชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ที่ตั้งอ่างจะครอบคลุ่มพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดอุดรธานี พื้นที่รับประโยชน์รวม 12 หมู่บ้าน 4 ตำบล 2 อำเภอ ได้ประโยชน์ในฤดูฝน 11,538  ไร่ ฤดูแล้ง 2,500 ไร่ ให้ผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยราคาค่าก่อสร้างและแผนงานก่อสร้างโครงการรวม 1,160 ล้านบาท ซึ่งการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนานจะมีผลกระทบด้านต่างๆ ดังนี้ 1. สูญเสียต้นไม้บางส่วนในเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (โซน C) ของป่าสงวนแห่งชาติป่านายูงและป่าน้ำโสม และป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอย และป่านากลาง พื้นที่ 478.61 ไร่  2. เสียพื้นที่การเกษตรบริเวณที่ก่อสร้างหัวงาน 113 ไร่ และพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 994 ไร่ รวมเป็นพื้นที่ 1,107 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ยางพารา อ้อย และข้าว 3. มีราษฎรสูญเสียที่ดินรวม 254 ราย 305 แปลง รวม 1,531 ไร่ แต่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในการก่อสร้างโครงการส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการ เนื่องจากต้องการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ 4. การใช้เส้นทางในการขนส่งวัสดุก่อสร้าง อาจส่งผลให้เกิดฝุ่นละออง การชำรุดของถนนจาการขนส่ง

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานมีมาตรการรองรับได้แก่ การปลูกป่าทดแทน 2 เท่าของพื้นที่ป่าที่สูญเสียไป จ่ายค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สินให้กับผู้ได้รับผลกระทบในราคาที่เป็นธรรม รวมถึงปรับปรุงเส้นทางที่ใช้ในการขนส่งวัสดุก่อสร้าง (ถนนเข้าหัวงาน) และกำหนดความเร็วขนส่งไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในบริเวณที่เป็นชุมชน และความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังมีแผนที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำของโครงการ ด้วยระบบโทรมาตร ได้แก่ การเชื่อมโยงกับ Website ของโครงการชลประทานหนองบัวลำภูและสำนักชลประทานที่ 5 การเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน (SWOC)  และสถานีโทรมาตรในสนาม ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ และอาคารบังคับน้ำที่สำคัญในการบริหารจัดการ

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำ…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ พื้นที่กว่…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวั…