กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชลประทานกว่า 306,963 ไร่ ให้อยู่ดีกินดี มีรายได้เพิ่มขึ้น

นายสำเริง ม่วงสังข์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมี นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน นายสุรชัย ลายกาญจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาโครงการ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน ร่วมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นโครงการขนาดใหญ่ โดยอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาวมีความจุกักเก็บ 1,980 ล้านลบ.ม. และมีพื้นที่ชลประทานจำนวน 306,963 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอำเภอยางตลาด อำเภอกมลาไสย อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ และอำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม สภาพโดยทั่วไปพบว่าเกษตรกรจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงต้นฤดูทำนาปีและในช่วงฤดูแล้ง ส่วนในฤดูฝนจะมีปัญหาน้ำล้นตลิ่งและไหลเข้าท่วมที่ราบลุ่มริมลำน้ำทั้งริมฝั่งลำปาวและบริเวณลำปาวบรรจบกับแม่น้ำชี ส่งผลให้ประชาชนและเกษตรกรได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วมอยู่เป็นประจำทุกปี และเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหนึ่งของจังหวัดกาฬสินธุ์มาอย่างยาวนาน ถ้าหากการบริหารจัดการน้ำที่ยังไม่เป็นระบบ ทำให้เกษตรกรได้ใช้น้ำไม่เต็มที่ กรมชลประทานจึงจำเป็นจะต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบครบวงจร ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนหรือเกษตรกรที่อยู่บริเวณหัวเขื่อน และท้ายเขื่อนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยเฉพาะเดือนเมษายนเป็นฤดูทำนาปรัง จากสภาพปัญหาดังกล่าว กรมชลประทานจึงได้ดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อบรรเทาอุทกภัยในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว และบริเวณที่ราบลุ่มริมลำน้ำทั้งริมฝั่งลำปาวและบริเวณลำปาวบรรจบกับแม่น้ำชี ส่งน้ำและระบายน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จำนวน 306,963 ไร่ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและการประปาส่วนภูมิภาค ดังนั้น ขอฝากให้ทุกภาคส่วนร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จตามเป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง เพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรอย่างคุ้มค่า

ด้านนายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเกิดปัญหาจากการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่องในพื้นที่โครงการ เช่น ระบบส่งน้ำเสียหาย และไม่สามารถรองรับน้ำได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ หรือปัญหาด้านพื้นที่การเกษตรที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมากขึ้นตลอดทั้งปี ประกอบกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานยังไม่เพียงพอในสภาวะที่อัตรากำลังคนลดลงกรมชลประทานจึงได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการชลประทาน (JMC) และมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวให้มีประสิทธิภาพการชลประทานเพิ่มขึ้น เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบันและการใช้น้ำในอนาคต กรมชลประทานจึงได้เริ่มโครงการศึกษาความเหมาะสม การปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จ.กาฬสินธุ์” เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 หลังจากคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) มีมติเห็นชอบให้พิจารณาแนวทางในการปรับปรุงโครงการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยคํานึงถึงความเหมาะสมกับสภาวะปัจจุบันและความต้องการใช้น้ำในอนาคต เพราะปัจจุบันเกษตรกรประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงต้นฤดูทํานาปีและในช่วงฤดูแล้ง ส่วนฤดูฝนมีปัญหาน้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมที่ราบลุ่มริมลำน้ำ หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างต่อเนื่อง

สำหรับอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาวมีความจุกักเก็บ 1,980.00 ล้าน ลบ.ม. ที่ตั้งโครงการอยู่ที่หมู่ 11 บ้านสะอาดนาทม ตำบลลำปาว อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และมีพื้นที่ชลประทาน 306,963 ไร่ ฉะนั้น การศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการต้องประเมินสถานภาพของโครงการในปัจจุบันและแนวทางการปรับปรุงระบบส่งน้ำและระบบระบายน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับประชาชนอย่างจริงจัง และในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) ก็เพื่อสรุปผลการศึกษาให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาปรับปรุงรายงานฉบับสุดท้ายให้ครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยมีแนวทางการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการประกอบด้วย การปรับปรุงพื้นที่โครงการชลประทาน 4 ส่วน ได้แก่ 1) พื้นที่หัวงานเขื่อนลำปาว 2) ระบบส่งน้ำคลองสายใหญ่ฝั่งซ้าย (LMC) 3) ระบบส่งน้ำคลองสายใหญ่ฝั่งขวา (RMC) และ 4) พื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ รวมมูลค่าการก่อสร้างโครงการเบื้องต้น 2,644.718 ล้านบาท แบ่งเป็น ปรับปรุงระบบส่งน้ำคลองสายใหญ่ฝั่งซ้าย (LMC) 757.571 ล้านบาท ปรับปรุงระบบส่งน้ำคลองสายใหญ่ฝั่งขวา (RMC) 1,865.803 ล้านบาท ปรับปรุงคลองรับน้ำหลากจากป่าดงระแนง 13.115 ล้านบาท และก่อสร้างระบบส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ 8.229 ล้านบาท

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังมีแผนบริหารจัดการการใช้น้ำ คือ ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยและมีมูลค่าสูง บริหารจัดการน้ำตามสถานการณ์ในแต่ละปี กําหนดพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสมกับปริมาณน้ำต้นทุน และในอนาคตได้เสนอติดตั้งระบบโทรมาตรและระบบควบคุมทางไกล (SCADA) มีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพน้ำ และอุปกรณ์ควบคุมระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยําในการตรวจวัดปริมาณน้ำและควบคุมการเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำ

นายสุรชาติ เปิดเผยอีกว่า การปรับปรุงระบบชลประทานจะทำให้การส่งน้ำเพื่อการชลประทานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น สามารถส่งน้ำได้ทั่วถึงทุกพื้นที่ ลดการสูญเสียน้ำ มีปริมาณน้ำเพียงพอสําหรับบริหารจัดการน้ำให้กับพื้นที่ 306,963 ไร่ ในฤดูฝน และ 207,100 ไร่ ในฤดูแล้ง รวมทั้งพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ของระบบส่งน้ำคลองสายใหญ่ฝั่งซ้ายและฝั่งขวารวมทั้งสิ้น 8,350 ไร่ ขณะเดียวกันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบชลประทานให้สามารถใช้น้ำได้คุ้มค่า ลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ สามารถกักเก็บน้ำและระบายน้ำบรรเทาอุทกภัยได้ ตั้งแต่พื้นที่ในเขตโครงการไปจนถึงบริเวณลำปาวที่บรรจบกับแม่น้ำชี ส่วนอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนก็ใช้เป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำ รวมทั้งใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และใช้ในการประปาส่วนภูมิภาค ตลอดจนอุตสาหกรรมขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษายังพบว่ายังมีโครงการที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาในอนาคตอีก หากมีปริมาณน้ำจากภายนอกลุ่มน้ำผันมาเติมให้กับอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว เบื้องต้นได้แก่ โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ พื้นที่อำเภอเมืองกาฬสินธุ์, โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า พร้อมระบบส่งน้ำในพื้นที่อำเภอยางตลาด และอำเภอห้วยเม็ก, โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบึงเลิงเปือย พื้นที่อำเภอกมลาไสย และอำเภอร่องคํา ซึ่งเป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร ตามที่ได้มีการร้องขอพระราชทานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ

จากนั้น นายสุรชาติและคณะได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมการเลี้ยงกุ้งกรามและพบปะพูดคุยกับกลุ่มเกษตรกรที่ใช้น้ำจากเขื่อนลำปาวในการประกอบอาชีพการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม สร้างรายได้ประมาณ 300,000-500,000 บาทต่อปีอีกด้วย

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ …

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ พื้นที่กว่…

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…