อัพเกรดพื้นที่เกษตรเป็นทองคำ จากจัดระบบน้ำเป็นจัดรูปที่ดิน

 
        การพัฒนาระบบชลประทานในไร่นา (On Farm Irrigation Development) เป็นเป้าหมายสูงสุดของการชลประทาน

        ประเทศไทยพัฒนาระบบชลประทานในไร่นา ตั้งแต่ปี 2510 โดยรัฐบาลไทยทดลองจัดรูปที่ดินในพื้นที่ภาคกลางแถบ จ.สิงห์บุรี จนเมื่อมั่นใจว่าเป็นเป้าหมายสู่ความเป็นเลิศของการจัดการแปลงไร่นาแล้ว จึงตราพระราชบัญญัติการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2517

        การจัดรูปที่ดิน แบ่งรูปแบบเป็นประเภทสมบูรณ์แบบ (Intensive Type) มีการก่อสร้างคูส่งน้ำ คูระบายน้ำและเส้นทางลำเลียงผ่านทุกแปลง รวมทั้งจัดรูปแปลงที่ดินใหม่ให้เหมาะสมสวยงาม เป็นการสร้างความสมบูรณ์มั่นคงให้กับไร่นา และเกษตรกรเข้าถึงความสะดวกสบายนี้

        อีกรูปแบบเป็นประเภทกึ่งสมบูรณ์แบบ (Extensive Type) มีทั้งคูส่งน้ำ คูระบายน้ำ เส้นทางลำเลียง แต่ไม่ได้จัดรูปแปลง หากก่อสร้างคูน้ำหรือเส้นทางลำเลียงล้อไปกับรูปแปลงเดิม

        เกษตรกรไม่เพียงได้รับเอกสารสิทธิที่ดินเป็นโฉนดที่ดินใหม่ หากแต่ราคาที่ดินจะขยับสูงขึ้นเป็นหลายเท่าตัว



        การจัดรูปที่ดินมีทั้งเปิดโครงการใหม่ และอาศัยการต่อยอดจากพื้นที่ชลประทานที่มีการก่อสร้างคันคูน้ำอยู่แล้ว ปัจจุบันเรียกว่า การจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม ตาม พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2558 ซึ่งแก้ไขปรับปรุงจาก พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2517 และ พ.ร.บ.คันและคูน้ำ พ.ศ.2505
        “ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดว่าจะขยายพื้นที่จัดรูปที่ดินไปยังจังหวัดหนองคาย อุดรธานี และมหาสารคาม โดยอาศัยพื้นที่คันคูน้ำที่มีอยู่แล้ว ยกระดับเป็นพื้นที่จัดรูปที่ดินแบบกึ่งสมบูรณ์แบบ” นายประเมษ ชูสิน  ผู้อำนวยการกองทุนจัดรูปที่ดิน สำนักงานจัดรูปที่ดิน ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าสำนักงานจัดรูปที่ดิน จ.ขอนแก่น และมีส่วนขับเคลื่อนต่อยอดไปยังพื้นที่ดังกล่าวท้าวความหลัง
        การมีคันคูน้ำ น่าจะเป็นการเพียงพอสำหรับการรับน้ำอยู่แล้ว แต่ทำไมเกษตรกรถึงยอมจัดรูปที่ดินซึ่งต้องสูญเสียที่ดินไม่เกิน 7% ของพื้นที่ตัวเอง เพื่อใช้ในการก่อสร้างระบบชลประทานร่วมกัน เช่น คูส่งน้ำ คูระบายน้ำ และเส้นทางลำเลียงในไร่นาและต้องจ่ายค่าก่อสร้างไม่เกิน 20% ของค่าก่อสร้างเฉลี่ยตามพื้นที่แต่ละแปลงแต่สามารถนำราคาประเมินที่ดินมาหักลบได้
        “มันก็เหมือนรถเบนซ์ ราคาแพง แต่ก็ขายได้ขายดี” นายประเมษเปรียบเทียบ “สิ่งสำคัญคือเกษตรกรมีเส้นทางลำเลียงหรือถนนเข้าถึงทุกแปลง เป็นการปฏิวัติพื้นที่ตาบอดโดยปริยาย ทุกคนเข้าถึงถนนได้หมด เป็นความสะดวกสบายที่เกษตรกรเห็นได้ชัดเจน”
        สิ่งที่ชัดเจนอีกประการหนึ่ง เมื่อจัดรูปที่ดินแล้ว เกษตรกรจะได้รับเอกสารสิทธิใหม่เป็นโฉนดที่ดิน จากเดิมอาจเป็น น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก. เท่ากับยกระดับสิทธิครอบครองที่ดินระดับสูงสุด
        ประการสุดท้าย  ราคาที่ดินสูงขึ้นทันตาเห็น ตั้งแต่ 2-3 เท่า หรือมากกว่านั้น


        “อยู่ที่การขายครับ เราต้องบอกเกษตรกรให้รับรู้ถึงประโยชน์ที่เขาได้รับ ส่วนเขาจะเอาหรือไม่ก็ขึ้นกับเขา  ที่สำเร็จได้เพราะเขาเอาด้วยกับเรา” นายประเมษกล่าว
        พื้นที่คันคูน้ำ จ.หนองคาย อุดรธานี และมหาสารคาม จึงพัฒนาต่อยอดเป็นพื้นที่จัดรูปที่ดินในเวลาต่อมา พร้อมๆ กับการจัดตั้งสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดตามจังหวัดดังกล่าว
        นางมณี วงศ์ษาพาน ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินและระบบน้ำเพี่อเกษตรกรรมที่ 10 (หนองคาย บึงกาฬ) เสริมว่า พื้นที่จัดรูปที่ดินอ่างเก็บน้ำห้วยบังพวน จ.หนองคาย เดิมที่เป็นพื้นที่คันคูส่งน้ำของกรมชลประทาน ครอบคลุม 3 ตำบล 2 อำเภอ ได้แก่ ต.หนองนาง ต.ท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ และ ต.พระธาตุบังพวน อ.เมือง และต่อยอดมาเป็นพื้นที่จัดรูปที่ดินตั้งแต่ปี 2548-2555 รวม 4 ระยะ พื้นที่ 8,700 ไร่ โดยมีอ่างเก็บน้ำห้วยบังพวนความจุกว่า 8 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นแหล่งน้ำต้นทุน
        “เป็นการยกระดับการพัฒนาจากคันคูน้ำมาเป็นจัดรูปที่ดินที่ใครๆ บอกว่ายาก แต่เมื่อชี้แจงเกษตรกรอย่างชัดเจนทุกประการแล้ว เขาตัดสินใจเอาด้วย เราก็จัดรูปที่ดินได้”
        ประเด็นสำคัญในการจูงใจให้เกษตรกรเอาด้วย หนีไม่พ้นเรื่องการมีเส้นทางลำเลียงหรือถนนในไร่นา ซึ่งช่วยให้พื้นที่เกษตรกรพ้นจากสภาพที่ดินตาบอด จะเข้าออกไม่ต้องขอใครเหมือนเดิมอีกแล้ว และยังได้โฉนดที่ดินใหม่อีกด้วย
        “เขาฟังที่เราเข้าไปชี้แจงถึงผลได้ผลเสีย เขาต้องเสียที่ดินและลงขันค่าก่อสร้าง แต่เมื่อประเมินผลได้ ผลเสีย เขาคิดว่าเขาได้มากขึ้น สะดวกยิ่งขึ้น แถมราคาที่ดินก็สูงขึ้น เขาจึงตัดสินใจรับโครงการจัดรูปที่ดิน”
        โครงการแรกจัดรูปที่ดินปี 2548  เหมือนเกมวัดใจ  พอจัดรูปที่ดินแล้วเสร็จ เกษตรกรเริ่มเห็นชัดว่า ผลดีมากกว่าผลเสีย จึงตัดสินใจจัดรูปที่ดินตามมาอีก 3 ระยะ ในปี 2551 2554 และ 2555 จนหมดทั้งโครงการ
        เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า คันคูน้ำหรือระบบจัดระบบน้ำสามารถต่อยอดไปถึงการจัดรูปที่ดินได้ เท่ากับเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตในแปลงที่ดินได้สูงสุด

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ …

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ พื้นที่กว่…

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…