แผนพัฒนาความมั่นคงด้านน้ำ รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี


         หนึ่งในโจทย์ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) คือการสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และ ฉะเชิงเทรา

         ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์  เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลประกาศเป็นนโยบายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ย่อมหมายถึงการเชิญชวนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมตามข้อกำหนด สิ่งสำคัญคือต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ ซึ่งปกติก็มีความต้องการน้ำสูงอยู่แล้วจากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือ อีสเทิร์นซีบอร์ด
         “ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นทุกปีอยู่แล้วจากอีสเทิร์นซีบอร์ด พอประกาศเขตเศรษฐกิจอีอีซีเพิ่มเข้าไปอีก ทำให้ความต้องการใช้น้ำขยายตัวมากขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว นอกเหนือจากการเกษตรที่ต้องการน้ำเป็นพิ้นฐานอยู่แล้ว”


         แผนการขับเคลื่อนความมั่นคงด้านน้ำสำหรับพื้นที่อีอีซี ในระยะ 10 ปีแรก มีความชัดเจนอยู่ 6 ด้าน ประกอบด้วย
         1.ปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม โดยเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิม 7 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างฯ หนองปลาไหล อ่างฯ หนองค้อ อ่างฯ มาบประชัน อ่างฯ บ้านบึง อ่างฯ คลองหลวงรัชโลทร และอ่างฯ คลองสียัด สามารถเก็บกักน้ำเพิ่ม 102 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุเดิม 770 ล้านลูกบาศก์เมตร

         2.พัฒนาอ่างเก็บน้ำใหม่ในลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย อ่างฯ ประแกด อ่างฯ คลองพะวาใหญ่ อ่างฯ คลองหางแมว และอ่างฯ คลองวังโตนด ความจุรวม 308.50 ล้าน ลบ.ม. โดยส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรภายในลุ่มน้ำวังโตนด 170 ล้าน ลบ.ม. และผันน้ำส่วนเกินทางท่อในฤดูฝน จากอ่างฯ คลองวังโตนดไปอ่างฯ ประแสร์ จ.ระยอง เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่อีอีซี 100 ล้าน ลบ.ม./ปี

         ขณะนี้อ่างฯ ประแกด ก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ คาดว่าจะเก็บน้ำได้ในปี 2561 ส่วนอีก 2 แห่ง คือ อ่างฯ คลองพะวาใหญ่ และอ่างฯ คลองหางแมว อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ในขณะอ่างฯ คลองวังโตนด กำลังพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง (EHIA)

         3.เชื่อมโยงแหล่งน้ำและระบบผันน้ำ โดยในระยะ 5 ปีแรกจะปรับปรุงคลองพานทอง จ.ชลบุรี ให้สามารถเป็นทางผันน้ำมาสู่อ่างฯ บางพระ ได้อีก 20 ล้าน ลบ.ม. จากปัจจุบันที่ผันได้ 30 ล้าน ลบ.ม./ปี และพัฒนาท่อผันน้ำอ่างฯ ประแสร์-อ่างฯ หนองค้อ-อ่างฯ บางพระ  เพื่อเชื่อมโครงข่ายเพิ่มเติมและรองรับน้ำต้นทุนใหม่ที่จะมาจากลุ่มน้ำคลองวังโตนด

         4.สูบน้ำกลับท้ายอ่าง โดยมีแผนสูบน้ำท้ายอ่างฯ ประแสร์ บริเวณคลองสะพาน เพื่อสูบกลับขึ้นไปเก็บไว้ในอ่างฯประแสร์ 50 ล้าน ลบ.ม./ปี พร้อมกับปรับปรุงระบบสูบน้ำกลับท้ายอ่างฯ หนองปลาไหล ได้น้ำเพิ่ม 5 ล้าน ลบ.ม./ปี

         5.ป้องกันน้ำท่วมเมืองระยอง โดยการก่อสร้างสถานีสูบน้ำและท่อระบายน้ำหลากจากคลองทับมาเพื่อออกสู่ทะเล ลดปริมาณน้ำหลากที่เกิดจากคลองทับมา และป้องกันน้ำท่วมพื้นที่อุตสาหกรรม อ.พนัสนิคม และ อ.พานทอง จ.ชลบุรี โดยปรับปรุงคลองและก่อสร้างประตูระบายน้ำ

         6.แหล่งน้ำสำรองของภาคเอกชน โดย บริษัท อีสต์วอเตอร์ มีแผนจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม โดยขุดพัฒนาบ่อดินในพื้นที่เอกชนและขุดสระทับมา ความจุรวม 77 ล้าน ลบ.ม.
         “ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในการจัดสรรน้ำให้พื้นที่อีอีซี คือนโยบายของรัฐบาลที่เน้นโครงการไหนทำได้ก่อนทำทันที เช่น โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิมที่มีอยู่แล้วซึ่งทำได้ทันที และการเร่งรัดขอใช้พื้นที่ป่าสำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสำคัญๆ ในแผน รวมทั้งการจัดสรรน้ำจากหน่วยงานเกี่ยวข้องที่มีความชัดเจนเรื่องปริมาณ  ช่วงเวลา สถานที่ และกฎกติกา การใช้น้ำร่วมกันผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม” ดร.สมเกียรติกล่าว
         สำหรับความต้องการน้ำเมื่อผ่านพ้นระยะ 10 ปีแรกไปแล้ว ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า มีการประเมินความต้องการเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 220 ล้าน ลบ.ม./ปี โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำ การจัดหาน้ำต้นทุนในทุกรูปแบบ ทั้งน้ำผิวดิน น้ำบาดาล กระทั่งน้ำทะเล รวมถึงการนำน้ำใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่
         “อยู่ระหว่างการศึกษาของ สทนช. ซึ่งต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ความคุ้มค่าในทุกมิติ และสอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบันรวมถึงอนาคตด้วย”
         ทั้งนี้ เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนด ณ โครงการก่อสร้างอ่างฯ คลองหางแมว ต.ขุนซ่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี 1 ใน 4 อ่างฯ ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ โดยกล่าวว่า หากก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดจะทำให้ลุ่มน้ำคลองวังโตนด เป็นลุ่มน้ำตัวอย่างที่สามารถบริหารจัดการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และการผลักดันน้ำเค็มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สร้างความอุดมสมบูรณ์ได้ทั่วทั้งลุ่มน้ำ

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ …

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ พื้นที่กว่…

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…