All for One สายน้ำ สายใย หัวใจเดียวกัน


เข้าสู่ฤดูฝนมีข้อกังวลเรื่องน้ำท่วมทุกที
        มันก็ชวนน่าห่วงสำหรับสภาพลมฟ้าอากาศที่วิปริตผิดเพี้ยนชัดเจนขึ้น ฝนที่เคยตกกระจายก็กระจุกตก ซ้ำร้ายยังตกแช่เป็นเวลานาน เสี่ยงต่อน้ำท่วมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อมีพายุซ้ำเติม
        หลายรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ แต่ไม่สำเร็จ เพิ่งมาตั้งไข่ได้ในรัฐบาล คสช. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้ ม.44 จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมาเป็นหน่วยงานกลางในการจัดการน้ำทั้งประเทศ
        ใครเป็นรัฐบาลก็ปวดหัว เพราะหน่วยงานด้านน้ำมีทั้งหมด 38 หน่วย ต่างคนต่างทำ อาจประสานงานกันบ้างแต่อย่างหลวมๆ เพราะไม่มีข้อกฎหมายกำกับ


        แต่การจัดการน้ำของ พล.อ.ประยุทธ์ จะประกอบด้วย 3 เสาหลัก
        1. มี สทนช. เป็นหน่วยงานกลาง ทำหน้าที่บูรณาการทุกด้านกับอีก 38 หน่วยงาน ทั้งข้อมูล แผนงาน แผนเงิน แผนคน เป็นผู้กำกับ (Regulator) โดยมี 38 หน่วยงานเป็นผู้ปฏิบัติ (Operator) ถ้าเป็นทีมฟุตบอล สทนช. ก็คล้ายโค้ช ในขณะ 38 หน่วยงานเปรียบเหมือนนักฟุตบอลที่เล่นตามแผนของโค้ช โดยมีเป้าหมายคือเอาชนะคู่แข่งหรือแก้ไขปัญหาให้ประชาชนสำเร็จ
        2. มีแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ  มีทั้งแผนเดิม 12 ปี (พ.ศ.2558-2569) และปรับเป็นแผน 20 ปี ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2560-2579)
        3. มีกฎหมายบังคับใช้คือ ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ..... ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งน่าจะประกาศใช้ได้ภายในปี 2561


        3 เสาหลักนี้จะเป็นเครื่องค้ำยันให้ สทนช. สามารถขับเคลื่อนงานได้ โดยมี 38 หน่วยเป็นผู้เล่นในระบบ ที่ผ่านมา เมื่อต่างคนต่างทำ จึงมีปัญหาทั้งประสิทธิภาพและการสิ้นเปลืองงบประมาณ กำลังคนและอุปกรณ์ แต่โดยกฎหมายใหม่ สทนช. จะทำหน้าที่เชื่อมร้อยหน่วยงานภายใต้คำว่าบูรณาการ เพื่อขับเคลื่อนงานให้เป็นผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพ
        “ไม่ได้รวบงบประมาณ” พล.อ.ประยุทธ์เน้นเป็นพิเศษในฐานะประธานปาฐกเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
        ข้อหารวบงบประมาณคือความหวาดระแวงของหน่วยงานที่มีอยู่ เพราะ สทนช.วางแผนโครงการแล้ว ยังติดตามงบประมาณและติดตามผลอีกด้วย ถ้าจะบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต้องล่วงรู้แผนงาน งบประมาณ ทั้งหมดของทุกหน่วย แต่บางหน่วยมีทั้งใช้งบตามภารกิจตัวเองแล้ว ยังใช้งบพื้นที่จากจังหวัด กลุ่มจังหวัด หรืองบกลางของรัฐบาล ทำให้คำว่า “ประสิทธิภาพ” มีปัญหา เพราะเกิดความซ้ำซ้อนได้ ผิดวัตถุประสงค์ได้ รวมถึงความคุ้มค่า
        อย่างไรก็ตาม บนเวทีการสัมมนาเรื่อง “การปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ” ในวันเดียวกัน เริ่มเห็นสัญญาณความเข้าใจที่ชัดเจนกว่าที่ผ่านๆ มาในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการบริหารน้ำในช่วงฤดูฝนที่มาถึง เพราะทุกหน่วย ทั้งกรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงกองทัพต่างเข้าใจบทบาทตัวเองและบทบาท สทนช. มีแผนการทำงานเชิงบูรณาการที่เป็นรูปธรรม
        แต่ทั้งนี้เป็นการทำงานแก้ปัญหาระยะสั้นเฉพาะหน้า ยังต้องพิจารณาแผนระยะกลางและระยะยาวตามแผนยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี ซึ่งมีรายละเอียด ขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อนกว่า และชัดเจนยิ่งขึ้นในทุกด้านทุกหน่วย
        ตรงนั้น โค้ชอย่าง สทนช. คงต้องออกแรงกว่านี้ แต่เมื่อเห็นท่วงทำนองการแก้ปัญหาระยะสั้นก็พออุ่นใจได้ระดับหนึ่งว่า  ช่องว่างความเข้าใจระหว่างโค้ชกับผู้เล่นเริ่มหดแคบลงระดับหนึ่ง น่าจะปรับได้ดียิ่งขึ้นในระยะกลางและระยะยาว  หากทุกฝ่ายตั้งเป้าหมายที่ประชาชนเป็นสำคัญ
        โดยเฉพาะในช่วงนี้ยังมีแนวโน้มว่า สทนช. จะทำงานขับเคลื่อนไปข้างหน้าโดยได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คนทำคลอดอีกต่อไป


        ว่ากันที่จริง หากใครเป็นรัฐบาลก็น่าจะสนับสนุน สทนช. เพื่อให้เห็นภาพรวมปัญหาน้ำ การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ไม่ต้องมาเหนื่อยแบบไม่มีคำตอบเหมือนอย่างที่ผ่านมา
        เพราะที่ผ่านมา แค่พ้นจากเส้นทางน้ำของกรมชลประทานแล้ว เส้นทางน้ำที่เหลือก็หาคนรับผิดชอบยาก  พ้นจากพื้นที่ชลประทานแล้วก็ไม่มีใครดูแล  หรือหน่วยงานหนึ่งขุดลอกตะกอนดินในน้ำแล้วมาแปะอยู่ริมฝั่งรอพังลงไปอีกก็จะน้อยลง  หากแต่ขุดลอกแล้วต้องขนย้ายออกไปด้วย  หรือการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ของกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยก็จะมีหน่วยอื่นช่วยสนับสนุน  ทุกเรื่องต้องมีเจ้าภาพ มีแผนงาน โครงการ มีงบประมาณ มีการบูรณาการร่วมกัน ทั้งข้อมูล วิธีการทำงานที่สอดรับกันในเชิงพื้นที่ลุ่มน้ำ และ ฯลฯ
        เป็น All for One สายน้ำ สายใย หัวใจเดียวกัน จากการทำงานร่วมกันและแบ่งความรับผิดชอบร่วมกัน วันนั้นปัญหาน้ำที่ว่าใหญ่ ก็พอคลี่คลายลงได้

********************

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ …

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ พื้นที่กว่…

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…