นายกฯจัดแถว38หน่วยงานน้ำต้องมีเอกภาพ

“บิ๊กตู่” ร่ายยาวผลงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เน้นสร้างระบบให้เอกภาพ วางกลไกการบริหารประสบผลสำเร็จ  มีองค์กรกำกับดูแลชัดเจน  เร่งคลอดกฎหมาย พรบ. ทรัพยากรน้ำรองรับ พร้อมวางยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไว้ถึง 6 ด้าน

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดการเสวนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจและทราบถึงสถานการณ์น้ำ และแนวทางการบริหารจัดการน้ำภาพรวมของประเทศ  รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมการบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ ด้านทรัพยากรน้ำ 38 หน่วยงาน ตามที่รัฐบาลได้ปรับปรุงกลไกในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศใหม่ให้มีระบบและมีเอกภาพยิ่งขึ้น จากเดิมที่ยังไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบโดยตรง โดยได้วางกลไกการบริหารใหม่ในลักษณะ 3 เสา ประกอบด้วย 1. ด้านกฎหมาย  จะมีการตราพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำขึ้นมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 คาดจะพิจารณาแล้วเสร็จและประกาศใช้ภายในปี 2561 นี้อย่างแน่นอน

2.ด้านองค์กรรับผิดชอบเรื่องน้ำในระดับชาติ มีการตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ขึ้นมา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนคณะกรรมการ ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ มีเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ รวม 24 คน และให้มีคณะอนุกรรมการฯ อีก 4 คณะ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และขับเคลื่อนแผนงานตามยุทธศาสตร์น้ำที่สำคัญ  นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมาเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการน้ำ  ส่วนในระดับลุ่มน้ำได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันรอการแต่งตั้งและสรรหากรรมการภายหลังร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ…..ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาดังกล่าวประกาศมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะประกอบด้วย ผู้แทนภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใช้น้ำภาคส่วนต่างๆและผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานในระดับภูมิภาคของ สทนช. เป็นกรรมการและเลขานุการ

  1. 3. ด้านแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ปี 2558 – 69) เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค โดยมีเป้าหมายพัฒนาประปาหมู่บ้าน 7,490 หมู่บ้าน ปรับปรุงประปาหมู่บ้าน 9,093 หมู่บ้าน ชุมชนเมือง มีระบบประปาเพิ่มขึ้น 255 เมือง และขยายเขตประปา 688 แห่ง  ขณะนี้ จัดทำประปาหมู่บ้านแล้วเสร็จ 7,234 แห่ง คงเหลืออีก 256 หมู่บ้าน ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต เพื่อจัดหาน้ำต้นทุน สร้างความมั่นคงในภาคการผลิตเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำได้ไม่น้อยกว่า 9,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพิ่มพื้นที่ชลประทาน ไม่น้อยกว่า 8.7 ล้านไร่ รวมทั้งจัดหาน้ำเพื่อพัฒนาด้านเศรษฐกิจ มีเป้าหมายสำคัญในภาคตะวันออกเพื่อรองรับความต้องการของพื้นที่เดิม และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษในภาคต่าง ๆ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย เพื่อลดความเสียหายจากอุทกภัยของชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ  โดยมีเป้าหมายปรับปรุงเพิ่มอัตราการไหลของน้ำ มากกว่าร้อยละ 10 ในลำน้ำสายหลัก 870 กิโลเมตร ลดความเสียหายจากน้ำล้นตลิ่งในลุ่มน้ำวิกฤต 10 ลุ่มน้ำ ป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง 185 แห่ง ปัจจุบันได้ทำการขุดลอกลำน้ำสายหลัก สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการระบายได้แล้ว 292 กิโลเมตร พร้อมจัดทำการป้องกันน้ำท่วมชุมชนได้ 63 แห่ง พัฒนาพื้นที่รับน้ำนองในพื้นที่ทุ่งบางระกำและลุ่มน้ำเจ้าพระยา 12 ทุ่ง   แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำในภาคใต้

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำ เพื่อให้แหล่งน้ำมีคุณภาพอยู่ในระดับพอใช้ขึ้นไป โดยมีเป้าหมายพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย 201 แห่ง เพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย 47 แห่ง ลดปริมาณน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน ป่าสัก มูล ชี ควบคุมความเค็ม บริเวณปากแม่น้ำไม่ให้เกินค่ามาตรฐานการเกษตรและการประปา กำจัดวัชพืชและขยะลอยน้ำ  ซึ่งขณะนี้สามารถดำเนินการจัดทำระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียชุมชนได้ 53 แห่ง จัดทำบ่อสังเกตการณ์น้ำบาดาลและตรวจติดตามคุณภาพน้ำบาดาลในพื้นที่ทิ้งขยะ จำนวน 19 แห่ง และการควบคุมระดับความเค็ม 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำภาคใต้ ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตก

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การฟื้นฟูป่าต้นน้ำและพื้นที่เสื่อมโทรม เพื่อปรับสมดุลระบบนิเวศโดยมีเป้าหมายฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ 4.77 ล้านไร่ ซึ่งจะทำให้เกิดป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ลดความรุนแรงของปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง  ซึ่งปัจจุบันได้ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมในพื้นที่ภาคต่าง ๆ แล้วรวม 368,481 ไร่

และยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการ ได้ตั้งเป้าหมายให้มีองค์กร กฎหมาย ระบบข้อมูล การประชาสัมพันธ์ และการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ รวมทั้งผลักดันพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ จัดตั้งหน่วยงานกลาง และจัดตั้งศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพ ภูมิอากาศ เศรษฐกิจและสังคม  ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)  ได้จัดตั้ง สทนช. ให้เป็นหน่วยงานกลางด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ พร้อมทั้งได้มีการพัฒนาระบบข้อมูลสนับสนุนการ ตัดสินใจ ในการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งภาวะปกติและภาวะวิกฤตแล้วเสร็จจำนวน 22 ระบบ เช่น งานแผนที่ แบบจำลอง  ระบบพยากรณ์เตือนภัย เป็นต้น สำหรับแผนการดำเนินการต่อไป จะดำเนินการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจาก 12 ปี เป็น 20 ปี (พ.ศ.2561-80) เร่งรัดประกาศใช้ พรบ.ทรัพยากรน้ำ บริหารแผนงานโครงการและงบประมาณให้ครอบคลุมทั้งเชิงพื้นที่ ภารกิจ และนโยบาย ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการสร้างความเข้าใจของประชาชน ประเมินผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศ รวมทั้ง ให้มีศูนย์อำนวยการข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในกรณีฉุกฉิน เพื่อแก้ไขวิกฤติน้ำของชาติ

ด้านนายสมเกียรติ  ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้การบริหารจัดการน้ำทรัพยากรน้ำของประเทศ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน มีระบบและมีความเป็นเอกภาพจากทุกภาคส่วน สอดคล้องกันในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งเป็นหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ตลอดจนการจัดให้มีองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งในระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ และยังจะมีการปรับปรุงยุทธศาสตร์ฯ น้ำ 20 ปี   ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งจะได้มีการตราพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำขึ้นมาบังคับใช้อีกด้วย

 

 

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ …

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ พื้นที่กว่…

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…