สทนช. “เสือกระดาษหรือลายพาดกลอน”

By…ปั้น ปัญญวิชญ์

สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ถือกำเนิดในรัฐบาล คสช. 2 วาระ โดยวาระแรก เอากรมทรัพยากรน้ำ ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าไปเป็นแกน แต่ไม่สำเร็จ ต้องโยกออกไป พร้อมทั้งตั้ง ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทานเป็นผู้อำนวยการ สทนช. เป็นวาระที่สอง

สทนช. ระยะเริ่มต้นสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่อนาคตจะเป็นกระทรวงน้ำหรือไม่ก็ยังไม่แน่ จะว่าเป็นแนวคิดใหม่ก็ไม่เชิง รัฐบาลสมัยหนึ่งเคยให้ นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทานมานั่งขับเคลื่อน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จมาแล้ว คนส่วนหนึ่งถึงได้ปรามาสว่า สุดท้าย สทนช. เป็นได้แค่เสือกระดาษ

แนวคิดในการจัดตั้ง สทนช. ที่ต้องการบูรณาการข้อมูลด้านน้ำ ทำให้มีคนตั้งข้อสังเกตหลากหลาย บ้างว่าเป็นฝ่ายเสนาธิการ บ้างก็ว่าเป็นสภาพัฒน์ด้านน้ำ สุดแต่จะคิดกัน

จะเป็นอะไรก็ว่ากันไป แต่ต้องดู 2 ปัจจัยสำคัญ

1.ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ……

2.คนกุมบังเหียน สทนช.

ว่าด้วย ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ โดยรูปการของกฎหมายฉบับนี้ทำให้ สทนช. มีลักษณะเป็นผู้กำหนดนโยบายและควบคุมกฎ (Regulater) ทรัพยากรน้ำเป็นสำคัญ โดยมีอำนาจเหนือหน่วยงานน้ำอื่นๆ ทั้งปวง เว้นแต่เรื่องวิกฤติจำเป็นจริงๆ อาจมีบทบาทเพิ่มเติมในฐานะผู้ปฏิบัติการ (Operator)

ทุกวันนี้ หน่วยงานหลักด้านน้ำคือกรมชลประทานทำหน้าที่ทั้ง 2 อย่างควบคู่ไปด้วย เช่นเดียวกับกรมทรัพยากรน้ำ เมื่อทั้งออกกฎเอง ปฏิบัติการเอง คุมกฎเอง ความศักดิ์สิทธิ์ก็หายไปพร้อมๆ กับความถูกต้อง

ที่น่าสนใจคือเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างมีอำนาจ และมีช่องว่างระหว่างอำนาจและหน่วยงาน

ยกตัวอย่าง จะแก้ไขปัญหาน้ำในลุ่มน้ำสักแห่งหนึ่ง กรมชลประทานต้องขออนุมัติจากกรมป่าไม้หรือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในกรณีพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในความรับผิดชอบจากหน่วยงานดังกล่าว หรือพ้นไปจากทางน้ำชลประทานไปตามลำน้ำ จะจัดการอะไรก็ต้องเป็นหน้าที่ของกรมเจ้าท่าบ้าง เทศบาลบ้าง

สรุปคือ ปัญหาน้ำกลายเป็นเรื่องเรื้อรัง และเมื่อต่างคนต่างทำ มันก็แก้ปัญหาได้เฉพาะหน้าเท่านั้น ประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ก็ต่ำ จึงเป็นที่มาของคำว่าบูรณาการ และหน่วยงานที่จะบูรณาการก็คือ สทนช. นั่นเอง

พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฉบับนี้น่าจะเรียบร้อยต้นปี 2561 เท่ากับประเทศไทยจะมีองค์กรสำคัญด้านทรัพยากรน้ำถือกำเนิดขึ้นอย่างจริงจังเสียที

ทีนี้ทำไมถึงต้องเป็น นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทานใหม่หมาดแค่ 1 เดือนเศษมาเป็นผู้อำนวยการ สทนช. จริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากมีข่าวก่อนนั้นมาแล้วว่า นายสมเกียรติมาเป็นตั้งแต่เป็นรองอธิบดีกรมชลประทาน แต่ติดขัดว่าตำแหน่ง ผอ. สทนช. เทียบเท่าปลัดกระทรวง ซี 11 จะพาสชั้นจาก ซี 9 เป็นซี 11 ย่อมไม่เหมาะสม จึงต้องรอให้ขึ้นเป็นอธิบดีก่อน จึงไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งปวง

น่าจะเป็นคนที่เหมาะสมที่สุดในเรื่องความรู้ความอ่าน ทั้งมหภาคและจุลภาค เป็นทั้งนักวางแผนและปฏิบัติครบเครื่องเรื่องน้ำ ความเหมาะสมนี้ยังเข้าทาง คนในกรมชลประทานหนุนส่ง เพื่อให้มีคนใหม่เป็นอธิบดีแทนในเร็ววันเช่นกัน

แต่…อีกนั่นแหละ ลำพัง นายสมเกียรติ เพียงคนเดียว ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะมีข้อจำกัดแทบทุกอย่าง แต่กำลังคน สถานที่ ไปจนถึงความร่วมมือจากหน่วยงานภายใต้ สทนช. ซึ่งส่วนใหญ่ยังเฝ้าดูทิศทางลม บางส่วนทำตัวเป็นอึ่งอ่างขวางคลองด้วยซ้ำ หวงข้อมูล หวงคน เผลอก็อยากเห็น สทนช. สะดุดขาตัวเองล้มหัวทิ่มเสียด้วยซ้ำ

การขับเคลื่อนองค์กร สทนช. จึงดำเนินการควบคู่ไปกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ…… ซึ่งเวลานี้ต่างฝ่ายต่างเข้าสู่โหมดสุดท้ายคือ โครงสร้าง สทนช. ที่จะล้อไปกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ซึ่งลงตัวแล้วเหลือแต่รออนุมัติอย่างเป็นทางการ

ทีนี้ก็เหลือแต่บุคลากร น่าจะโอนย้ายข้าราชการจากส่วนงานเกี่ยวข้องมาประจำใน สทนช. เกือบๆ 300 คน

ส่วนสถานที่นั้นชัดเจนแล้วว่า ใช้พื้นที่ในกรมชลประทานสามเสนเป็นที่ทำการ หลัง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ และ นายวิษณุ เครืองาม สองรองนายกรัฐมนตรี ประชุมและทุบโต๊ะมาแล้ว

หากใครได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ คงเห็นในทิศทางเดียวว่า คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติก็ดี สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติก็ดี จะทรงพลังในเรื่องน้ำชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย

ดูสภาพเสือ สทนช. ณ ขณะนี้ แม้พื้นตัวรูปเสือจะยังคงมีสีขาวเป็นหลัก แต่เริ่มเห็นลายเข้มรางๆ ขึ้นมาแล้ว ดูจะเป็นเสือลายพาดกลอน ไม่ใช่เสือกระดาษอย่างที่ประมาทกัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีที่สี่ และเชื่อว่า สทนช. จะเป็นมือไม้ในการขับเคลื่อนอย่างเป็นภาพใหญ่ให้เห็นในเร็ววันนี้

แม้การปฏิรูปหลายเรื่องอาจไม่ถึงฝั่งฝัน แต่เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเรื่องน้ำ เชื่อว่าจะเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่สามารถโชว์ได้เต็มๆ ในขณะรัฐบาลอื่นแทบไม่ได้ทำ ปลายปี 2561 ประเทศไทยจะมีเลือกตั้งใหญ่แล้วไม่ใช่หรือ

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ …

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ พื้นที่กว่…

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…