พลิกโฉมบึงสีไฟ-บึงบอระเพ็ด ขุดลอก-เพิ่มกักเก็บ-แก้บุกรุก

การเดินทางมาตรวจราชการจังหวัดพิจิตรและนครสวรรค์ และประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2561 ระหว่างวันที่ 11-12 มิถุนายน 2561 ณ จังหวัดนครสวรรค์ ของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตรวจเยี่ยมโครงการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตรเพื่อการระบายน้ำและกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ณ  ประตูระบายน้ำดงเศรษฐี หมู่ที่ 4 ตำบลย่านยาว อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมระหว่างคลองส่งน้ำของกรมชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำพิจิตร อยู่นอกเขตโครงการชลประทาน ความยาวของแม่น้ำประมาณ 127 กิโลเมตร รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 56,900 ไร่ และมีพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 43,700 ไร่

แม่น้ำพิจิตรหรือแม่น้ำเมืองเก่า แต่เดิมเป็นแม่น้ำน่าน ต่อมาแม่น้ำน่านได้ไหลเปลี่ยนทิศทาง จนเกิดเป็นแม่น้ำพิจิตรในปัจจุบัน  เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำน่านกับแม่น้ำยม  โดยแยกจากแม่น้ำน่านที่บริเวณบ้านดงเศรษฐี ตำบลย่านยาว อำเภอเมืองพิจิตร  ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนสองฟากฝั่งแม่น้ำดีขึ้น โดยเฉพาะการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารของประชาชนที่เพิ่มขึ้น เพราะระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพของแม่น้ำกลับคืนมา ที่สำคัญช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมช่วงที่น้ำหลากในแม่น้ำน่าน โดยสามารถตัดมวลน้ำน่านเข้าสู่แก้มลิงของพิจิตร ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะหลากลงไปยังที่ราบภาคกลาง อีกทั้งช่วยแก้ปัญหาบึงสีไฟซึ่งอยู่ทางตอนล่างได้อีกด้วย แนวทางการพัฒนาที่สําคัญ ได้แก่ การขุดลอกแม่น้ำพิจิตรทั้งสายตลอดความยาว 127 กิโลเมตร เพื่อกักเก็บน้ำ

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำให้ทุกคนจะต้องช่วยกันสร้างชุมชนของตนเองให้มีความเข้มแข็ง เพราะลำพังเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายเดียวคงมีจำนวนไม่เพียงพอ หากประชาชนช่วยกันแก้ปัญหาในชุมชนก็จะสามารถแก้ไขสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้  โดยใช้แนวทางประชารัฐ เพราะชุมชนถือเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน ถ้าชุมชนเข้มแข็ง การพัฒนาประเทศก็จะมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป

พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีรับฟังการบรรยายสรุปการปรับปรุงและพัฒนาบึงบอระเพ็ด เน้นย้ำเร่งดำเนินการแก้ปัญหาการบุกรุก การใช้ประโยชน์เป็นที่ดินทำกิน และการเพิ่มพื้นที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ พร้อมแสดงความห่วงใยในความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

โดยนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน บรรยายสรุปผลการดำเนินงานและการพัฒนาบึงบอระเพ็ดว่า  เนื่องจากพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งเพื่อการเกษตร การอุปโภค บริโภค และการประมง นอกจากนี้ยังมีปัญหาการบุกรุกพื้นที่ และตะกอนสะสมอีกด้วย กรมชลประทานจึงมีแผนพัฒนาบึงบอระเพ็ด โดยมีแผนงานสำรวจและจัดทำแผนที่ การขุดลอกตะกอนในบึง ขุดคลองดักตะกอนแนวขอบบึง ขุดบึงบอระเพ็ดลักษณะเป็น Deep Pool ปรับปรุงคลองบอระเพ็ด เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักโดยปรับปรุงฝายเดิมเป็นฝายพับได้ รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำ ทั้งนี้ คณะกรรมการฟื้นฟูอนุรักษ์และพัฒนาบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ มียุทธศาสตร์การพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาการบุกรุก และการใช้ประโยชน์ในบึงบอระเพ็ด 2) ยุทธศาสตร์ด้านบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3) ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการน้ำ และ 4) ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารขับเคลื่อนแบบบูรณาการ

จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้มีการพัฒนาบึงบอระเพ็ดอย่างบูรณาการ แก้ไขปัญหาการบริหารจัดการ และคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศ คำนึงถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยให้ประสานกับคณะกรรมการฟื้นฟูอนุรักษ์และพัฒนาบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมกับเน้นย้ำให้เร่งดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาการบุกรุก การใช้ประโยชน์เป็นที่ดินทำกิน และการเพิ่มพื้นที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำด้วย

บึงบอระเพ็ด เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม และเป็นบึงทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเนื้อที่ 132,737 ไร่ อยู่ในพื้นที่สามอำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่ อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอท่าตะโก และอำเภอชุมแสง โดยกรมชลประทานวางแผนโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มีการออกแบบคลองดักตะกอนและจุดทิ้งดินเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ นอกจากนี้ บึงบอระเพ็ดยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ อุดมด้วยพืชและสัตว์นานาชนิด ทั้งยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนให้กับแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นถิ่นอาศัยหากินสร้างรังวางไข่ของนกนานาชนิด ซึ่งจังหวัดนครสวรรค์มีการพิจารณารูปแบบการพัฒนาอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง  โดยการกำหนดขอบเขตควบคุมและพัฒนาบึง ฟื้นฟูและปรับปรุงให้เป็นแก้มลิงของประเทศ พัฒนาเป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำจืดโดยการส่งเสริม วิจัย พัฒนาและนำนวัตกรรมมาใช้ รวมทั้งการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ครบวงจร และมีระบบบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน

 

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ …

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ พื้นที่กว่…

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…