กรมชล กางแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง

3 จังหวัดภาคอีสานตอนบน หนองบัวลำภู อุดรธานี และหนองคาย ประชุมร่วมกับกรมชลประทาน รับฟังความเห็นแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง เผย 3 โครงการที่มีความสำคัญลำดับสูงเพื่อศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม


โดยนายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า จากผลการศึกษาโครงการฯ เบื้องต้น เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดหนองคาย อุดรธานี และหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง ปัจจุบันพบว่าประชาชนได้ใช้น้ำอย่างเต็มที่ เนื่องจากส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก จึงมีความต้องการใช้น้ำมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งจะเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพราะว่าแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายหลักในการหล่อเลี้ยงประชาชนและพื้นที่การเกษตร ก็อยากจะได้น้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ขณะที่กรมชลฯ ก็มีแผนพัฒนาศักยภาพการเก็บกักน้ำตามโครงการฯ โดยการเพิ่มช่องทางการระบายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้ดียิ่งขึ้น และเติมเต็มน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวสามารถตอบโจทย์ได้อย่างชัดเจน

“ทุกวันนี้พี่น้องประชาชนได้เห็นความสำคัญของน้ำอยู่แล้ว อยากให้ทุกคนได้ตระหนัก และฝากถึงพี่น้องประชาชนว่าน้ำคือชีวิต เพราะฉะนั้นการใช้น้ำต้องเกิดประโยชน์และคุ้มค่า มากที่สุด สำหรับการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อจะได้นำข้อเสนอแนะเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติ แก้ไข และขับเคลื่อนตามนโยบายของภาครัฐอย่างจริงจัง ก็ต้องขอขอบคุณกรมชลฯ ที่มีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างครอบคลุมทุกด้าน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนยิ่งขึ้น” ผู้ว่าฯ หนองคาย กล่าว


ด้านนายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำและการระบายน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง เนื่องจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำมักประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตร ขณะที่พื้นที่ตอนกลางถึงตอนปลายของลุ่มน้ำ มักประสบปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรอยู่เป็นประจำ โดยกรมชลฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการแบ่งเป็นแผนระยะสั้นและระยะยาว ประกอบด้วยโครงการของแผนงานระดับลุ่มน้ำ ระดับโครงการ และระดับท้องถิ่นใน 2 ยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญ คือ แผนการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ และแผนบรรเทาอุทกภัย รวม 297 โครงการ

จากนั้นได้คัดเลือกโครงการที่มีความสำคัญมาก เพื่อศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 3 โครงการ คือ 1.โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำห้วยทอน (ตอนบน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย ประกอบด้วย การปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้น การขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยทอน (ตอนบน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ การก่อสร้างท่อส่งน้ำ และการปรับปรุงคลองส่งน้ำฝายห้วยทอนตอนล่าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำห้วยทอน (ตอนบน) ได้ประมาณ 3.65 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี และเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้มากขึ้น 1,572 ไร่ 2.โครงการปรับปรุงลำน้ำห้วยโมง พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำกลางคลอง 2 แห่ง ประกอบด้วย การปรับปรุงลำน้ำห้วยโมง 11 ช่วง ความยาว 39.75 กิโลเมตร การก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านโนนวารี และประตูระบายน้ำบ้านนาข่า ซึ่งจะช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ได้ประมาณ 3,864 ไร่ อีกทั้งยังช่วยส่งน้ำพื้นที่ชลประทานได้อีก 8,500 ไร่ 3.โครงการผันน้ำห้วยลาน-ห้วยคุก ประกอบด้วย การก่อสร้างคลองผันน้ำห้วยลาน-ห้วยคุก ความยาว 22.50 กิโลเมตร การก่อสร้างประตูระบายน้ำปากคลองผันน้ำ การก่อสร้างประตูระบายน้ำกลางคลองผันน้ำ การก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านเวียงคุก การก่อสร้างประตูระบายน้ำห้วยลาน และการขุดลอกคลองห้วยลาน (บริเวณประตูระบายน้ำปากคลองผันน้ำ) โดยจะช่วยลดพื้นที่น้ำท่วมได้ประมาณ 21,463 ไร่ และยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ในคลองผันน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรได้อีก 1.75 ล้าน ลบ.ม.

“ต้องยอมรับว่าในพื้นที่ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่ไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เหมือนกับภูมิภาคอื่นๆ จึงไม่ได้มีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง อย่างไรก็ตาม กรมชลฯ มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้มีน้ำกินน้ำใช้ที่มั่นคง ถ้าหากมีแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น เกษตรกรก็มีน้ำใช้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ราคาก็สูงขึ้นตามด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมชลฯ ที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง ส่วนการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยน้ำโมงจะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดหนองคาย อุดรธานี และหนองบัวลำภูได้มีแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มมากขึ้น สามารถบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะภาคเกษตร รวมไปถึงการปรับปรุงระบบการกระจายน้ำในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังช่วยลดปัญหาอุทกภัยในช่วงน้ำหลากได้อีกด้วย ปัจจุบันการศึกษาความเหมาะสมได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการสำรวจและออกแบบเบื้องต้น คาดว่าจะสามารถดำเนินโครงการฯ ได้ในปี 2568 สำหรับกิจกรรมในวันนี้นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสลงพื้นที่สัมผัสกับปัญหาของเกษตรกรโดยตรง โดยจะขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้สำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว” รองอธิบดีฯ กล่าว

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ …

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ พื้นที่กว่…

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…