กรมชลฯ วางแนวจัดการน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำลำตะคองช่วยแก้วิกฤติภัยแล้ง-น้ำท่วมน้ำกินน้ำใช้เพียงพอ

เขื่อนลำตะคองเปรียบเสมือนหัวใจ ส่วนท่อน้ำดิบจะเป็นสายเลือดอีกเส้นหนึ่ง ทำหน้าที่ส่งน้ำดิบไปหล่อเลี้ยงชุมชน พื้นที่การเกษตรและอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จะเห็นได้ว่าในช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา พื้นที่จังหวัดนครราชสีมาต้องเจอกับวิกฤติภัยแล้ง โดยหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นป้องกันบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้นำรถน้ำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนตามหมู่บ้าน เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น

“กรมชลประทานได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังจัดทำโครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดการน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา จากผลการศึกษาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เหนือน้ำเขื่อนลำตะคองพบว่าอาคารทดน้ำจากเดิม 171 แห่ง ในเบื้องต้นได้เสนอให้มีการพัฒนาอาคารทดน้ำทั้ง 4 แห่ง ลักษณะของอาคารทดน้ำจะเป็นฝายพับได้ โดยใช้ระบบไฮดรอลิคเปิด-ปิดบานพับ ได้แก่ ฝายบ้านท่ามะปรางค์ บ้านท่าช้าง บ้านขนงพระ และบ้านโป่งประทุน โดยเมื่อพัฒนาโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่ชลประทานประมาณ 5,000 ไร่ ในฤดูฝน และ 1,500 ไร่ ในฤดูแล้ง เพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำลำตะคองได้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในชุมชนข้างเคียงได้กว่า 500 ครัวเรือน”วิวัฒน์ ฐิติรัตนอัศว์ ผอ.ส่วนวิศวกรรม สำนักงานชลประทานที่ 8 ได้ให้รายละเอียด และกล่าวเพิ่มเติมว่า

นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยวของชุมชนที่สำคัญ 5 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางธรรมชาติน้ำผุดและพื้นที่สาธารณะวัดท่าช้าง โครงการปรับปรุงทัศนียภาพชายตลิ่งวัดขนงใต้ โครงการแลนด์มาร์กปากช่องเกตเวย์ โครงการปรับปรุงทัศนียภาพพื้นที่สาธาณะริมน้ำบ้านโป่งประทุน ซึ่งเป็นมิติใหม่ในการบูรณาการร่วมกับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีการเก็บรวบรวมข้อมูลการบุกรุกพื้นที่ริมลำน้ำลำตะคองเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงการอนุรักษ์ต้นน้ำลำตะคองด้วยการสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนในการรักลำตะคอง มีการจัดตั้งกลุ่มจิตอาสาช่วยกันเก็บขยะในลำน้ำ ซึ่งในอนาคตอาคารทดน้ำทั้ง 4 แห่ง จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอำเภอปากช่องอีกแห่งหนึ่ง

ส่วนพื้นที่ท้ายน้ำเขื่อนลำตะคอง เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ใช้น้ำในช่วงลำตะคองตั้งแต่อ่างเก็บน้ำลำตะคองไปจนถึงในเขตเมืองนครราชสีมาปริมาณน้ำส่งไปตามลำน้ำธรรมชาติของลำตะคองพบความสูญเสียของน้ำปริมาณมาก ทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้เสนอโครงการตามแผนยุทธศาสตร์ ได้แก่ โครงการท่อลำเลียงน้ำดิบเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของพื้นที่ท้ายเขื่อนลำตะคอง โดยมีเป้าหมายพื้นที่ฝั่งซ้ายของพื้นที่ท้ายเขื่อนลำตะคอง ครอบคลุมพื้นที่ 28 ตำบล 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ปากช่อง อ.สูงเนิน อ.สีคิ้ว อ.เมือง และอ.ขามทะเลสอ ขนาดท่อลำเลียงเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร ความยาวท่อสายหลักทั้งสิ้น 67 กิโลเมตร ท่อสายซอยยาวรวม 101 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้างรวมค่าชดเชยที่ดินทั้งสิ้น 1,900 ล้านบาท โดยจะมีจุดจ่ายน้ำไปให้แหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยประหยัดน้ำได้มาก โดยเฉพาะน้ำที่เหลือจากการอุปโภคบริโภคจะส่งไปให้เกษตรกรเพื่อใช้ทำการเพาะปลูกได้ ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และโครงการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมท้ายน้ำอาคารแบ่งน้ำละลมหม้อ-ปตร.โพธิ์เตี้ย โดยเสนอปรับปรุงอาคารทดน้ำรูปตัวเอ็มในลำบริบูรณ์เดิมบริเวณเขตพื้นที่ส่งน้ำ ปตร.มะขามเฒ่าร่วมกับการขุดลอกลำบริบูรณ์เดิมจากจุดแยกอาคารแบ่งน้ำละลมหม้อ-ปตร.โพธิ์เตี้ย ระยะทางรวม 19 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในฤดูน้ำหลากและเก็บกักน้ำในลำน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้ง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 3,000 ไร่ ในฤดูฝน และ 1,000 ไร่ ในฤดูแล้ง มูลค่าก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 230 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ผลการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางกรมชลฯ ก็จะนำข้อมูลไปสำรวจในพื้นที่จริง เพื่อนำมาออกแบบรายละเอียด และของบประมาณในการก่อสร้างต่อไป

ด้านสุคนธ์ เต็มยศยิ่ง ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง จ.นครราชสีมา ระบุว่า โครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดการน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา โดยใช้ระบบท่อลำเลียงน้ำดิบเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคจะส่งผลดี ช่วยลดการสูญเสียน้ำ ลดต้นทุนการผลิตน้ำประปา ในส่วนของชลประทานก็จะจัดส่งน้ำให้มีคุณภาพเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึง โครงการนี้จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ตลอดแนวท่อจะมีน้ำกินน้ำใช้อย่างยั่งยืน ขอให้ช่วยกันประหยัดน้ำ และหวังว่าประชาชนและผู้นำชุมชนจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งขณะนี้ในส่วนของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคองก็ได้วางแผนเตรียมการรองรับภัยแล้งในปีถัดไป ส่วนเหนือเขื่อนลำตะคองก็จะเก็บกักน้ำไว้ใช้ ปัจจุบันได้มีการรื้อย้ายสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ นอกจากนี้ยังมีแผนขุดลอกคลองและปรับปรุงอาคารต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี โดยมั่นใจว่าจะบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อแก้วิกฤติภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก

ในส่วนของชำนาญ บุตรสูงเนิน ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำกุดเข็งโนนแดง ต.โป่งแดง อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาเกิดปัญหาภัยแล้ง น้ำในเขื่อนน้อย ทำให้เกิดปัญหาแย่งน้ำกัน ซึ่งทางชลประทานก็ได้เข้ามาแก้ไขปัญหา โดยการจัดรอบเวรเพื่อกระจายน้ำอย่างทั่วถึง และได้มีการพูดคุยกันเป็นประจำ ถ้าปีไหนน้ำท่วมน้ำหลาก ทางชลประทานก็จะเปิดทางให้น้ำไหลออกไป เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ใกล้เขื่อนลำตะคอง เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ปลูกพืชการเกษตรเสียหาย ดังนั้น หากโครงการท่อลำเลียงน้ำดิบฯ เกิดขึ้นจริง ก็จะช่วยประหยัดน้ำได้อย่างดียิ่งในการอุปโภคบริโภค การเกษตร รวมถึงประปาหมู่บ้าน นับว่าเป็นโครงการที่ดีมาก อยากให้มีการศึกษาออกแบบให้ตรงกับบริบทในแต่ละหมู่บ้านที่ต้องการใช้น้ำและพื้นที่การเกษตรในตำบลโป่งแดงส่วนใหญ่ทำนาข้าวเกือบ 4,000 ไร่

“วันนี้ได้มาฟังข้อมูลจากกรมชลประทานก็มีความเข้าใจมากขึ้น ต่อไปนี้ชาวบ้านก็ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำ หลังจากโครงการนี้เสร็จสิ้น ทางกลุ่มผู้ใช้น้ำก็จะมีการจัดรอบเวรในการบริหารจัดการน้ำให้ทั่วถึงในแต่ละหมู่บ้าน สุดท้ายนี้ขอฝากถึงผู้ใช้น้ำขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัดคุ้มค่า เพราะน้ำทุกหยดมีประโยชน์” ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำกุดเข็งโนนแดง กล่าว

ขณะที่อสัมภิญพงศ์ โรจนบุรานนท์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 บ้านโป่งประทุน ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ดีใจที่ทางกรมชลฯ จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่ดี โดยเฉพาะประชาชนที่ใช้น้ำจากเขื่อนลำตะคองจะได้รับประโยชน์อย่างมาก ช่วยให้มีท้องน้ำกว้างขึ้น พยายามเก็บรักษาต้นไม้ไว้และสามารถต่อยอดโครงการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเมืองปากช่อง ทำให้คุณภาพชีวิตเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาแหล่งน้ำให้คงอยู่ต่อไป

นอกจากการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดการน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อช่วยแก้ปัญหาวิกฤติภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก และเพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตรอย่างเพียงพอแล้ว กรมชลประทานได้มีการวางแผนพัฒนาระบบชลประทานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นแผนระยะสั้น หรือแผนระยะยาว ก็ได้มีการวางแผนไว้ครอบคลุมถึงปี 2570 คาดว่ากระบวนการต่าง ๆ ที่ดำเนินการจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสิ้น

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ …

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ พื้นที่กว่…

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…