กรมชลลุยศึกษาอ่างห้วยแม่ป่าไผ่แก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ

กรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามเร่งดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ “ห้วยแม่ป่าไผ่” อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จัดโครงการศึกษาปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่โดยตรง ทำให้ทราบความต้องการพัฒนาเชิงพื้นที่จาก 20 ตำบล ใน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน และตาก รวม 399 ความต้องการ คาดจะดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2566 แล้วเสร็จในปี 2570แก้ปัญหาน้ำพื้นที่ห่างไกลทั้งระบบ

        นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชการ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่โครงการศึกษาสร้างการรับรู้ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดตาก ณ พื้นที่บริเวณที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อให้เกิดความเข้าใจผลการดำเนินโครงการ และเป็นสื่อกลางในการเสนอข้อมูล ข่าวสารไปยังประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและมีความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่กว่า 80 คน

          นายเฉลิมเกียรติฯ กล่าวว่า จากการสำรวจปัญหาและความต้องการของชุมชนในการดำเนินโครงการฯ พบว่า ชุมชนต้องการความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ตำบลนาคอเรือ ซึ่งทางกรมชลประทานได้มีการผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหนึ่งในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญในพื้นที่คือโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยผ่านขั้นตอนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในปี 2562

          “จากการศึกษาข้อมูลทุติยภูมิและการลงพื้นที่เก็บข้อมูลร่วมกับชุมชน ทำให้ทราบความต้องการพัฒนาเชิงพื้นที่จาก 20 ตำบล ใน จ.เชียงใหม่,จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก รวม 399 ความต้องการ อาทิ การปรับปรุง/พัฒนาแหล่งน้ำ การขุดลอกอ่างเก็บน้ำ การสร้างฝาย การติดตั้งระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้า การปรับปรุงเส้นทางคมนาคม การขยายเขตบริการไฟฟ้า การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และการเจาะน้ำบาดาล เป็นต้น โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนการพัฒนาความต้องการ จำนวน 12 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมทางหลวงชนบท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมการท่องเที่ยว กรมพัฒนาที่ดิน กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยกรมชลประทาน คาดว่า อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2566 และแล้วเสร็จในปี 2570

          ด้านนายอัฏฐวิชย์ นาควัชระ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลาง 1 (ผสก.1) กล่าวว่า ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือ ได้อ่างเก็บน้ำที่มีระดับเก็บกักปกติ 20.41 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำไหลตลอดปีในห้วยแม่ป่าไผ่ ได้พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นจาก 2,753 ไร่ เป็น 6,683 ไร่ ครอบคลุม 11 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลนาคอเรือ 9 หมู่บ้าน และตำบลฮอด 2 หมู่บ้าน ส่วนการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรและรักษาระบบนิเวศท้ายน้ำในฤดูแล้ง จะมีน้ำไหลในห้วยแม่ป่าไผ่ตลอดปี

          ทั้งนี้ นายเฉลิมเกียรติฯ ยังได้เป็นประธานเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศ โครงการศึกษาสร้างการรับรู้ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในพื้นที่จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ และ จ.ตาก โดยจะจัดขึ้นจำนวน 3 เวที คาดว่าจะมีผู้ร่วมประชุมรวมกว่า 240 คน โดยเวทีที่ 1 จัดประชุมในวันอังคาร ที่ 9 สิงหาคม 2565 ณ หอประชุมโรงเรียนชุมชนศูนย์อพยพแปลง 4อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ เวทีที่ 2 จัดประชุมในวันพุธ ที่ 10 สิงหาคม 2565ณ หอประชุมที่ว่าการ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และเวทีที่ 3 จัดประชุมในวันพฤหัสบดี ที่ 11 สิงหาคม 2565 ณ หอประชุมที่ว่าการอ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

          ดร.ไพฑูรย์ ตรงเที่ยง ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายประชาสัมพันธ์มวลชนสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม กล่าวว่า “โครงการฯดังกล่าว ได้มีการทำงานร่วมกับชุมชนและทุกภาคส่วน ในการสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจที่ชัดเจน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชนเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก และจังหวัดลำพูน เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาให้ครอบคลุมในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รับฟังความคิดเห็นและรวบรวมความต้องการของประชาชนจากทุกพื้นที่ศึกษา และกำหนดรูปแบบการบำบัดทุกข์และบำรุงสุข สำหรับแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งความเดือดร้อนของประชาชน การพัฒนาคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน”

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำ…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวั…