ขับเคลื่อนแก้ไขอุทกภัยนิคมฯ บางปู เร่งสปีดรับฤดูฝน 65

นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ ถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมยุคแรกๆ ก่อตั้งเมื่อปี 2520 ถึงวันนี้กว่า 45 ปีแล้ว

            พื้นที่ 5,472 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป 3,659 ไร่ เขตประกอบการเสรี 377 ไร่ ที่พักอาศัยและอาคารพาณิชย์ 149 ไร่ พื้นที่สาธารณูปโภค 1,286 ไร่ ครอบคลุม ต.บางปูใหม่ และ ต.แพรกษา อ.เมืองสมุทรปราการ

            ถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจแห่งหนึ่งของประเทศเลยทีเดียว

            ลำพังตัวนิคมฯ มีสภาพเป็นเมืองอุตสาหกรรมอยู่แล้ว แต่พอมีชุมชนไหลตามมาอยู่รอบๆ ทำให้สภาพเมืองกระจายตัวใหญ่ขึ้น หนาแน่นขึ้น เกิดธุรกิจต่อเนื่องตามมาด้วย

            พื้นที่นิคมฯ เป็นพื้นที่ต่ำและลุ่มต่ำ เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเลปลายทาง ระดับพื้นที่ค่อยๆ ลาดต่ำลง การเกิดขึ้นของนิคมฯ และชุมชน ด้านหนึ่งเป็นความเจริญทางเศรษฐกิจ  อีกด้านหนึ่ง กลายเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำ ทั้งระดับถนนยกตัวสูงขึ้น การก่อสร้างหมู่บ้าน อาคารพาณิชย์ และการบุกรุกลำราง คลองสาธารณะจนคับแคบ ตื้นเขิน ส่งผลให้ระบบการระบายน้ำในพื้นที่มีปัญหาสะสมต่อเนื่อง

            ในปี 2564 เกิดปรากฏการณ์น้ำหลากท่วม 2 รอบ ในเดือนมกราคม และปลายเดือนสิงหาคม ต่อเนื่องถึงต้นเดือนกันยายนอีกครั้งหนึ่ง

            ครั้งหลังรุนแรงมีระดับน้ำท่วมสูงเป็นเมตร โชคดีที่ระยะเวลาท่วมขังไม่นานนัก แต่เป็นสัญญาณบ่งชี้อันตรายให้ทุกฝ่ายได้ตระหนัก และแก้ไขปัญหาร่วมกัน

            “ตอนนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน อีกไม่กี่เดือนจะเวียนมาครบรอบ 1 ปีแล้ว  พื้นที่เศรษฐกิจอย่างนิคมฯ บางปู จำเป็นต้องเตรียมการระวัง โดยเฉพาะอุทกภัย” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาค ในพื้นที่ภาคกลาง กล่าว

            ฤดูฝนปี 2565 กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศอย่างเป็นทางการว่า เริ่มเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 เร็วกว่าทุกปีในช่วงหลังๆ นี้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา มีปริมาณฝนมากกว่าทุกปี จนสัมผัสได้ถึงความแปรปรวนของสภาพลมฟ้าอากาศได้ชัดเจน ไม่มีใครค้ำประกันได้ว่า น้ำจะท่วมหรือไม่ท่วมนิคมฯ บางปูอีก

            ดร.สมเกียรติ เคยเป็นเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) คนแรก และได้ลงพื้นที่ประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหาช่วงเกิดอุทกภัยนิคมฯ บางปู อยู่ในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ เมื่อรับตำแหน่งใหม่ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคกลาง จึงสานต่องานเดิมตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยลงพื้นที่ประชุมหารือกับหลายฝ่ายเกี่ยวข้องอีกครั้ง ก่อนย่างเข้าสู่ฤดูฝน

            ประเด็นใหญ่ของนิคมฯ บางปู คือการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งในพื้นที่นิคมฯ บางปูเอง และพื้นที่รอบนิคมฯ ไม่อาจแก้ไขเพียงลำพังภายในนิคมฯ อย่างเดียว เพราะจะเกิดผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนโดยรอบ

            ในที่ประชุมร่วม นิคมฯ บางปู แจ้งว่า อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยภายในนิคมฯ

            ดังนั้น ดร.สมเกียรติ จึงมอบโจทย์แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนิคมฯ และพื้นที่โดยรอบว่า ในระยะสั้นมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร โดยเฉพาะฤดูฝน 2565 นี้

ในระยะยาว นิคมฯ จะป้องกันตัวเองอย่างไรให้รอดปลอดภัย เพราะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ แต่ต้องไม่ผลักภาระน้ำไปให้ชุมชนโดยรอบ ซึ่งจะกระทบและเดือดร้อนวงกว้าง

            “นิคมฯ บางปู ต้องบูรณาการปัญหานี้ร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต่อไปก็จะเอาผลการศึกษาที่แล้วเสร็จ มากางดู และพิจารณากัน”

            โดยยกตัวอย่าง น้ำหลากจากนิคมฯ จะระบายไปทางไหน ไม่ให้กระทบท่วมพื้นที่โดยรอบ เพราะมีลำห้วย 2-3 สายที่ไหลผ่าน 2-3 อบต. ก็ต้องหารือกับ อบต. เช่นเดียวกัน น้ำที่ระบายไปสู่คลองสายหลัก อย่างคลองชายทะเลก่อนไหลลงอ่าวไทย ก็ต้องหารือกับกรมชลประทานเช่นกัน

            “จังหวัดสมุทรปราการก็พร้อมร่วม คราวที่แล้วก็เห็นแล้วว่าชุมชนรอบนิคมฯ เดือดร้อนอย่างไร เช่นเดียวกับกรมชลประทานก็เตรียมความพร้อมระดับหนึ่ง เหลือแต่แผนของนิคมฯ บางปู ที่ยังไม่เสร็จออกมา ต่อไปจะประชุมหารือกันอีก  เพื่อหาข้อสรุปและเดินหน้า” ดร.สมเกียรติกล่าว

            กล่าวโดยสรุป การแก้ไขอุทกภัยนิคมฯ บางปู ไม่อาจทำได้ลำพังเฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หากแต่ต้องบูรณาการปัญหา แผนงานโครงการเข้าด้วยกันทั้งระบบ ไม่เช่นนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำได้ หากปล่อยให้ต่างคนต่างทำ โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อน

            นิคมอุตสาหกรรมบางปู น่าจะเป็นโมเดลการบูรณาการแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นระบบ ครบทุกมิติ และ จะเห็นความสำเร็จ-ความล้มเหลว เป็นเดิมพันนับจากนี้ไป

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ …

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ พื้นที่กว่…

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…