กางแผนแก้ท่วมลุ่มน้ำยมซ้ำซาก เพิ่มจุดเก็บน้ำ-ชะลอน้ำตอนบน ตัดยอดน้ำหลาก

สทนช. เด้งรับลูกนายกฯ กางแผนหลักลุ่มน้ำยม ผ่าทางตันแก้ท่วมซ้ำซากเบ็ดเสร็จ เพิ่มจุดเก็บกักน้ำ-ชะลอน้ำเพิ่ม ก่อนลงพื้นที่ตอนล่างเร่งด่วน พร้อมแจงแผนจัดการมวลน้ำท่วมขัง จ.สุโขทัย สู่พื้นที่ท้ายน้ำนำไปใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับผลกระทบ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม ประเทศไทยได้รับผลกระทบปริมาณฝนที่ตกหนักมากในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากพายุโซนร้อน “ซินลากู” พายุโซนร้อน “ฮีโกส” และอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 20 จังหวัด นอกจากนี้ยังส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงตั้งแต่จังหวัดเชียงรายถึงจังหวัดอุบลราชธานี มีระดับน้ำผันผวนโดยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝนที่ตกนี้ทำให้เกิดผลดีมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศรวม 4,500 ล้าน ลบ.ม. โดย 3 อันดับสูงสุด ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ 1,594 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี 494 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนภูมิพล จ.ตาก 400 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังน้อยกว่าที่คาดการณ์ โดยปัจจุบันยังไม่มีอ่างฯขนาดใหญ่ที่มีน้ำมากกว่า 80% แต่ผลที่ได้คือ อ่างฯ ที่มีน้ำน้อยกว่า 30%         มีจำนวนลดลง จาก 26 แห่ง เหลือ 14 แห่ง เนื่องจากฝนตกในที่เดิมซ้ำ ๆ ทำให้เกิดน้ำหลากจุดเดิมซึ่งยังคงมีอ่างฯ อีกหลายแห่งที่ต้องการน้ำที่อาจเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งถัดไปได้

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมแม่น้ำยมขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบประชาชนโดยเร่งด่วน เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ปัจจุบันพื้นที่ จังหวัดสุโขทัย เลยจุดสูงสุดของระดับน้ำแล้ว และจะลดลงตามลำดับ ซึ่งปัจจุบันมวลน้ำท่วมสูงสุดได้ไหลผ่านอำเภอเมือง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ และปริมาณน้ำที่ไหลผ่านอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ระดับน้ำได้ลดลงต่ำกว่าระดับตลิ่งแล้วเมื่อเวลา 20.00 น. ของเมื่อวานนี้ (25 ก.ค.63) โดย กอนช.ประเมินปริมาณน้ำหลากในเหตุการณ์ครั้งนี้ มีทั้งหมด 384 ล้าน ลบ.ม. ไหลผ่านไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ คงค้าง และอยู่ในระหว่างเร่งระบายในพื้นที่อีกประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีพื้นที่น้ำท่วมในเขตจังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลก 73,481 ไร่ และคาดการณ์ว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในสิ้นเดือนนี้ ทั้งนี้ มวลน้ำหลากดังกล่าวสามารถเก็บกักปริมาณน้ำหลากไว้ในลำน้ำสายหลักและสาขาในทุ่งบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ได้ประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเป็นปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ โดยปริมาณน้ำส่วนที่เหลือคาดว่าจะไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ในวันที่ 1 ก.ย. 63 ในอัตราสูงสุด 1,238 ลบ.ม./วินาที (ลำน้ำรับได้ 3,500 ลบ.ม/วินาที) และจะไหลลงมาที่เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ในวันที่ 2 ก.ย. 63 ในอัตรา 200 ลบ.ม./วินาที โดย กอนช. ได้มอบหมายให้กรมชลประทานดำเนินการผันน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันตกในอัตรา 93 ลบ.ม./วินาที และฝั่งตะวันออกในอัตรา 62 ลบ.ม./วินาที เพื่อเก็กกักน้ำไว้ในระบบชลประทาน และสามารถใช้เป็นน้ำต้นทุนส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรที่กำลังขาดแคลนน้ำอยู่ในปัจจุบัน   ผ่านระบบชลประทาน จะส่งผลประโยชน์ต่อพื้นที่ตอนล่างแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำส่วนหนึ่งอีกด้วย        และผันน้ำผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก คลองระพีพัฒน์ไปยังสถานีสูบน้ำคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต เพื่อสูบน้ำส่งไปเก็บในอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีมีข้อห่วงใยต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยมอย่างเบ็ดเสร็จ โดยสั่งการให้ สทนช.เตรียมแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยมทั้งระบบ โดยเฉพาะการเพิ่มจุดเก็บกักน้ำ และชะลอน้ำทุกรูปแบบในพื้นที่ต้นน้ำเพื่อลดผลกระทบน้ำท่วมและเก็บกักน้ำไว้ในฤดูแล้ง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาแหล่งน้ำตามแผนหลักลุ่มน้ำยม (ปี 2564 – 2580) มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันได้มีแผนหลักดำเนินการเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ยมตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง โดยลุ่มน้ำยมตอนบนระยะเร่งด่วนเริ่มดำเนินปี’64 ได้แก่ อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำและติดตั้งระบบเตือนภัย ระยะสั้น เริ่มปี’65-66 ได้แก่ พัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงแหล่งน้ำตามแนวคิด “สะเอียบโมเดล” ยมตอนกลาง ระยะเร่งด่วน เริ่มปี’64 ได้แก่ การจัดการจราจรน้ำและปรับปรุงลำน้ำที่ตื้นเขิน ระยะสั้นเริ่มปี 65-70 ได้แก่ พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในลำน้ำสาขา และเพิ่มความจุแหล่งน้ำเดิม ระยะยาว (หลังปี 70) ได้แก่ พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในลำน้ำยม ซึ่งต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และความต้องการของประชาชนในพื้นที่มาพิจารณาด้วย ในลุ่มน้ำยมตอนล่าง ระยะเร่งด่วน เริ่มปี 64 ได้แก่ การพัฒนาอาคารบังคับน้ำในลำน้ำยม อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 แห่ง โดยมีแผนดำเนินการในอนาคตอีก 7 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 11 แห่ง และ ระบบผันน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำ ได้แก่ โครงการคลองผันน้ำยมน่าน ระยะกลาง เริ่มดำเนินการปี’66 ได้แก่ พัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือจังหวัดนครสวรรค์

“ลุ่มน้ำยม มีน้ำฝนเฉลี่ย 1,369 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำท่า 6,715 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ประสบปัญหาท่วมแล้ง โดยมีพื้นที่ท่วมซ้ำซากคิดเป็นปริมาณน้ำกว่า 2,021 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ในช่วงฤดูแล้งขาดแคลนน้ำประมาณ 1,875 ล้าน ลบ.ม.       โดยเป้าหมายแผนหลักลุ่มน้ำยม 20 ปี สามารถพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำตอนบน – ตอนกลาง 800 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชะลอน้ำตอนล่าง 833 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 253,630 ไร่ และลดปัญหาน้ำท่วมได้ 54,159 ไร่  ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วงช่วง 3 ปีที่ผ่านมาดำเนินการแล้ว 697 โครงการ เก็บกักน้ำได้ 68 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 1.4 แสนไร่ โดยมีโครงการสำคัญ อาทิ อ่างเก็บน้ำน้ำปี้ (พรด) จ.พะเยา อ่างเก็บน้ำแม่อ้อน 2 (พรด) จ.ลำปาง อ่างเก็บน้ำ แม่แคม (พรด) จ.แพร่ ปตร.ท่านางงาม จ.พิษณุโลก ปตร.ท่าแห จ.พิจิตร ปตร.บ้านวังจิก จ.พิจิตร การเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นทุ่งบางระกำ ปี 2563 จำนวน 500 แห่ง ได้น้ำรวม 24 ล้าน ลบ.ม. และโครงการบางระกำโมเดล ขณะที่แผนงานโครงการสำคัญที่จะเริ่มดำเนินได้ภายในปี 2566 มีทั้งสิ้น 36 โครงการ ที่สามารถเพิ่มความจุได้ 116 ล้าน ลบ.ม. แก้มลิงชะลอน้ำ 833 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 1.67 แสนไร่ 26,949 ครัวเรือน โดยทำควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน-กลาง ได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอีก 234 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงเร่งผลักดันแผนการพัฒนาพื้นที่รับน้ำ ชะลอน้ำในลำน้ำยมตอนบนให้ได้โดยเร็วตามแผนหลักฯ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบปริมาณน้ำส่วนเกินก่อนไหลลงสู่พื้นที่จังหวัดสุโขทัยซึ่งเป็นพื้นที่ท่วมซ้ำซากให้ไม่ประสบปัญหาอย่างในปัจจุบัน” ดร.สมเกียรติ กล่าว

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ …

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ พื้นที่กว่…

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…