ปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน ชูกราฟ 3 ระดับเก็บกักน้ำคุมความเสี่ยง

การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนกักเก็บน้ำทั่วประเทศในปัจจุบันจะใช้หลักสถิติข้อมูลอุทกวิทยา เพื่อเป็นหลักประกันในการใช้ประโยชน์สูงสุดและปลอดภัย ซึ่งมักจะได้ยินกันบ่อย ไม่ว่าช่วงน้ำแล้งหรือน้ำหลาก ซึ่งมีด้วยกัน 2 เส้น ประกอบด้วย

               1.Upper Rule Curve กราฟเส้นบนสำหรับคุมระดับน้ำสูงสุด ไม่ให้เกินไปกว่าเส้นกราฟนี้             

2.Lower Rule Curve กราฟเส้นล่างสำหรับคุมระดับน้ำต่ำสุด ไม่ให้ต่ำไปกว่าเส้นกราฟนี้

               แล้วเส้นกราฟเหล่านี้มาจากไหน?

               กราฟทั้ง 2 เส้นนี้ เป็นการนำเอาข้อมูลน้ำย้อนหลัง 10-20 ปีมาพล็อตเป็นเส้นกราฟ จะเป็นเส้นโค้งขึ้นๆ ลงๆ  ในฤดูฝนจะเห็นระดับน้ำที่ไหลลงเขื่อนมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละปี จึงเป็นกราฟเส้นบนหรือ Upper Rule curve ซึ่งกำหนดไว้เพื่อให้มีช่องว่างรองรับน้ำหลากและเก็บกักน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอในทุกกิจกรรมในแต่ละปี และเป็นน้ำต้นทุนในปีถัดไป ส่วนในฤดูแล้งเป็นกราฟเส้นล่างหรือ Lower Rule Curve ซึ่งจะเห็นระดับน้ำในทุกฤดูแล้งต่อเนื่องกัน การบริหารน้ำในอ่างเก็บน้ำจึงอาศัยเส้นกราฟนี้เป็นเครื่องมือ เพื่อไม่ให้น้ำในอ่างมากเกินไป อาจเป็นอันตรายต่อตัวเขื่อนได้ เช่นเดียวกันเพื่อไม่ให้น้ำเหลือน้อยเกินไปกระทั่งเกลี้ยงอ่าง เป็นปัญหาอีกทางหนึ่ง

               พูดกันง่ายๆ บริหารจัดการน้ำในเขื่อนภายใต้ช่องว่างของเส้นกราฟ 2 เส้น ถ้าฤดูฝนก็อย่าปล่อยให้น้ำไหลเข้าเขื่อนเกินกว่ากราฟเส้นบน ตรงข้าม พอถึงฤดูแล้งอย่าปล่อยให้ใช้น้ำกันจนต่ำกว่ากราฟเส้นล่าง

               แต่จากสภาพอากาศ และสถานการณ์ฝนที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันการยึดโยงเพียงเส้นกราฟ 2 เส้นเฉกเช่นที่ผ่านมาคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีกราฟเส้นที่ 3 หรือเส้นกราฟที่เป็น Dynamic สำหรับบริหารจัดการน้ำให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละปี โดยใช้ข้อมูล ณ ปีปัจจุบันเป็นเครื่องมือตัวช่วยอีกตัว เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีความแม่นยำยิ่งขึ้น และลดความเสี่ยงไปในตัว ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำโดยใช้เส้นกราฟบนและกราฟล่างจะไม่ตายตัวแบบเดิม แต่จะมีกราฟอีกเส้นที่มีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการน้ำโดยคำนึงถึงสภาพการณ์อากาศ และสภาพฝนในแต่ละปีโดยมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากำหนดร่วมกัน

               “ต่อไปเวลาบริหารจัดการน้ำก็ไม่ได้หมายความว่า ให้บริหารจนถึงเส้นกราฟสูงสุดหรือต่ำสุด อย่างที่เคยทำมา เพราะเป็นเส้นกราฟที่ควรจะเป็นเท่านั้น หากทำแบบนี้จะทำให้การบริหารจัดการน้ำมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เป็นผลดีในการประหยัดน้ำหรือกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ ดีกว่าแค่ระบายออกอย่างเดียว โดยขณะนี้ สทนช. ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่รับผิดชอบเขื่อนปรับปรุงเครื่องมือบริหารจัดการน้ำในเขื่อนเสียใหม่ เพื่อให้ทันสมัยสอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงมากที่สุด โดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 20 ปีก่อนมาร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งเขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่ง มีการปรับปรุงเส้นกราฟค่อนข้างดี  แต่เขื่อนขนาดกลางกว่า 400 กว่าแห่งยังต้องปรับปรุงกันมาก  สิ้นเดือนเมษายน 2562 นี้ จะประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อสรุปเรื่องนี้” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุ

               “การบริหารจัดการน้ำไม่ได้มองเฉพาะน้ำในเขื่อนเท่านั้น หากยังต้องมองพื้นที่ท้ายเขื่อนและผลกระทบจากการระบายน้ำ โดยเฉพาะช่วงฤดูน้ำหลากที่พื้นที่ท้ายน้ำมีปัญหาน้ำท่วมระดับหนึ่งอยู่แล้ว ขณะเดียวกันต้องพยายามเก็บสำรองน้ำไว้ในเขื่อนให้ได้มากที่สุดด้วยเท่าที่ทำได้ เพราะจะเป็นน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งที่ต้องพึ่งน้ำในเขื่อนเป็นหลัก”

               เพราะน้ำกลายเป็นทรัพยากรมีค่ามากขี้น เนื่องจากความแปรปรวนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมีสูงมาก ในฤดูฝนจึงต้องมุ่งที่การบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ให้มีน้ำกักเก็บให้มาก โดยอาศัยเครื่องมือบริหารน้ำในเขื่อนด้วยเส้นกราฟดังกล่าว

               นอกจากนั้น ยังต้องพยายามเพิ่มปริมาณกักเก็บจากแหล่งน้ำในธรรมชาติ โดยการขุดลอกในช่วงฤดูแล้งเพื่อรองรับน้ำที่จะตกลงมาในฤดูฝน ซึ่งเกษตรกรสามารถใช้น้ำฝนโดยตรงในการเพาะปลูกได้อยู่แล้ว น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนใช้ในฤดูแล้งได้เพิ่มขึ้น

               เลขาธิการ สทนช. ระบุต่อว่า นอกจากการปรับปรุงเครื่องมือบริหารจัดการน้ำในเขื่อนแล้ว ยังจะต้องจัดหาเจ้าภาพในการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนขนาดกลางที่มีกว่า 400 แห่งอีกด้วย

               “เขื่อนขนาดกลางส่วนใหญ่มีคนรับผิดชอบคนเดียวต่อหลายเขื่อน ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในฤดูฝนที่มีวิกฤติน้ำหลาก น้ำล้น  ด้วยระยะทางที่อยู่ห่างไกลกัน ทำให้การบริหารจัดการน้ำมีปัญหาได้ง่าย ทั้งข้อมูลน้ำ สภาพฝน พื้นที่ได้รับผลกระทบ จึงต้องปรับปรุงจัดหาเจ้าภาพเป็นการด่วน”

               ทั้งนี้ อาจจำเป็นต้องอาศัยกลุ่มผู้ใช้น้ำเป็นตัวสนับสนุน เพราะอยู่ในพื้นที่ รับรู้ข้อมูลน้ำได้ดีที่สุด คล่องตัวที่สุด ขณะเดียวกัน ยังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมไปในตัวด้วย โดยข้อมูลดังกล่าวส่งผ่านช่องทางหน่วยงานที่ดูแลเขื่อนกับหน่วยงานศูนย์น้ำระดับจังหวัด ขึ้นสู่ระดับภาค และ สทนช. ตามลำดับ

               “ข้อมูลน้ำทั่วประเทศจะทันสมัยขึ้น เห็นภาพชัดเจน และสามารถวางแผนป้องกันได้ก่อนจะเกิดปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำ” ดร.สมเกียรติย้ำ

               การปรับปรุงเครื่องมือบริหารจัดการน้ำในเขื่อนโดยกราฟ 3 เส้นก็ดี  การจัดองค์กรบริหารข้อมูลน้ำในเขื่อนที่จะให้องค์กรผู้ใช้น้ำเข้ามามีบทบาทก็ดี รวมถึงให้การวางแผนเพิ่มพื้นที่รับน้ำโดยการขุดลอกตะกอนในแหล่งน้ำธรรมชาติก็ดี เป็นบทบาทในเชิงรุกของ สทนช. ในการปรับโฉมหน้าใหม่ในการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยที่น่าสนใจและรอการพิสูจน์ต่อไป

               อย่างน้อยที่สุด การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2561 และกำลังสิ้นสุด 30 เมษายน 2562 นี้ จากที่วางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ  23,100 ล้านลูกบาศก์เมตร ในทางปฏิบัติใช้ไป 20,975 ล้านลูกบาศก์เมตร (ณ วันที่ 17 เมษายน 2562) คิดเป็น 90% ของแผนจัดสรรน้ำ การใช้น้ำในลุ่มน้ำสำคัญเป็นไปตามแผน ไม่ว่าลุ่มน้ำชี-มูล ลุ่มน้ำแม่กลอง จะยกเว้นก็แต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ใช้เกินแผน 10% หรือประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นการบ้านให้ปรับปรุงต่อไปในฤดูแล้งหน้า

            สทนช. กำลังก้าวสู่เป้าหมายหน่วยงานกลางบูรณาการการบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างเต็มตัวสมดังเจตนารมณ์การก่อตั้งหน่วยงานนี้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ …

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ พื้นที่กว่…

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…