สทนช.เร่งสร้างสมดุลการใช้น้ำอีอีซี ยันอุตสาหกรรม-เกษตร มีน้ำเพียงพอ


สทนช. แจงแผนการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก ย้ำให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรม มั่นใจไม่เกิดปัญหาแย่งน้ำ ยืนยันปริมาณน้ำมีเพียงพอกับความต้องการในทุกภาคส่วน
          นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.กำลังดำเนินโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก เพื่อให้ได้แนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มภาคตะวันออกทั้ง 4 ลุ่มน้ำหลัก ได้แก่ ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาป และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างลุ่มน้ำ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีความสมดุลระหว่างการใช้น้ำ การป้องกันอุทกภัย และการจัดการคุณภาพน้ำ รวมทั้งเพื่อหาแนวทางอันนำไปสู่การพัฒนาแหล่งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และการปรับปรุงหรือเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งกักเก็บน้ำ ระบบกระจายน้ำที่มีอยู่เดิม เพื่อรองรับความต้องการน้ำในอนาคต รวมถึงการแก้ไขและบรรเทาปัญหาอุทกภัยและการจัดการคุณภาพน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคตะวันออก
          นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมด้านแหล่งน้ำ เพื่อรองรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economics Corridor: EEC) และพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ที่มีความสมดุลกับภาคการเกษตรและระบบนิเวศ โดยมีพื้นที่การศึกษา ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกทั้งหมด ประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว และปราจีนบุรี ทั้งนี้ ผลการศึกษาทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 17 มิถุนายน 2562
          สำหรับความต้องการใช้น้ำในอนาคตของ EEC ที่ได้มีการคาดการณ์ในอีก 20 ปีข้างหน้าว่าจะมีความต้องการใช้น้ำ 1,000 ล้าน ลบ.ม. นั้น เป็นการประมาณความต้องการใช้น้ำจากหน่วยงานด้านแหล่งน้ำ เมื่อปี พ.ศ.2560 โดยที่ยังไม่มีแผนหลักการพัฒนา ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในด้านการพัฒนาอุตสาห กรรม ที่ตั้งชุมชนใหม่ อัตราการขยายตัวของชุมชนเดิม ปริมาณนักท่องเที่ยว จำนวนประชากรแฝงหลังจากเกิดโครงการ EEC เป็นต้น จะต้องรอผลการศึกษาโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก ที่ สนทช.กำลังดำเนินการศึกษาก่อน อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น สทนช.ได้วิเคราะห์ ประมวลแผนงานสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ ในช่วงระยะเวลา 5ปี (ปี 2562-2566) ประกอบด้วย 6 แผนงาน จะได้ปริมาณน้ำต้นทุนรองรับพื้นที่ EEC ประมาณ 366 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งยังจะมีการวางแนวทางการศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำจากเทคโนโลยีการกรองน้ำทะเลเป็นน้ำจืด การนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ใหม่ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในภาคส่วนต่างๆ และมาตรการประหยัดน้ำแล้ว จะทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอกับความต้องการ
          “การศึกษาครั้งนี้ ยังจะมีการจัดทำแบบจำลองการบริหารจัดการน้ำทั้งแบบจำลองสมดุลน้ำและแบบจำลองชลศาสตร์ พร้อมทั้งวิเคราะห์สภาพแหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินที่เสี่ยงต่อคุณภาพน้ำต่ำ และสภาพการรุกล้ำของน้ำเค็มในจุดที่สำคัญของพื้นที่ศึกษา โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิหรือข้อมูลจากการศึกษาเดิมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวิเคราะห์ขีดความสามารถในการรับมือปัญหาน้ำเสียในปัจจุบัน และแนวทางการแก้ไขปัญหาในอนาคตโดยมาตรการใช้สิ่งก่อสร้างและมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง นอกจากนี้ยังจะศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง และแนวโน้มความรุนแรงในอนาคต ขีดความสามารถในการรับมือในปัจจุบันและแนวทางการแก้ไขปัญหาในอนาคตทั้งมาตรการใช้สิ่งก่อสร้างและมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง ตลอดจนการศึกษาด้านการบริหารจัดการน้ำ ศึกษาด้านเศรษฐกิจสังคมและเศรษฐศาสตร์โครงการ รวมทั้งยังจะจัดทำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และฐานข้อมูลโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอีกด้วย” นายสมเกียรติกล่าว
          เลขาธิการ สทนช.กล่าวต่อว่า ขณะนี้ความต้องการใช้น้ำในพื้นที่กลุ่มจังหวัด EEC คือ จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา มีความต้องการประมาณปีละ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในขณะที่การพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ปัจจุบันประกอบด้วย โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง 19 แห่ง รวมมีปริมาณน้ำต้นทุนเก็บกัก 1,353 ล้าน ลบ.ม. และมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กและโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้ากระจายในพื้นที่ พื้นที่กลุ่มจังหวัดมีน้ำท่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง-ปราจีนบุรีและลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และมีปริมาณน้ำจากพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเข้ามาเสริมน้ำต้นทุนอีกไม่ต่ำกว่า 300 ล้าน ลบ.ม. อีกทั้งมีการพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร รวมถึงยังการพัฒนาโครงข่ายระบบผันน้ำเชื่อมโยงแหล่งน้ำอื่นในพื้นที่ภาคตะวันออกอีกด้วย ดังนั้นจะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน
          สำหรับแผนงานสำคัญทั้ง 6 แผนงานดังกล่าว ประกอบด้วย 1.แผนการปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม 2.แผนการพัฒนาอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี 4 แห่ง ซึ่งขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 แห่ง ได้แก่ อ่างฯคลองประแกด อยู่ในระหว่างก่อสร้าง 2 แห่ง ได้แก่ อ่างฯคลองพะวาใหญ่ และอ่างฯ คลองหางแมว คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2565 เหลืออีก 1 แห่งคืออ่างฯ คลองวังโตนด 3.แผนการเชื่อมโยงแหล่งน้ำและระบบผันน้ำ ในระยะ 5 ปี จะทำการเชื่อมโยงแหล่งน้ำและผันน้ำภายในประเทศให้เต็มศักยภาพ 5.แผนพัฒนาแหล่งน้ำสำรองภาคเอกชน บริษัท East Water มีแผนดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมโดยการพัฒนาบ่อดินในพื้นที่เอกชน และการขุดสระทับมา และ 6.แผนการสำรวจพัฒนากลุ่มบ่อน้ำบาดาลสำหรับภาคอุตสาหกรรม

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำ…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวั…