บริหารจัดการน้ำสูตรใหม่ เก็บกักน้ำ-หน่วงน้ำ-ระบายน้ำ

          ช่วงฤดูฝนทุกคนกังวลเรื่องปริมาณฝน น้ำท่า และน้ำท่วม เป็นสำคัญ
          เป็นปัญหาที่ทุกหน่วยงานต้องเฝ้าระวังกันเป็นพิเศษ เพราะแม้มีคติความเชื่อที่ว่า น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง แต่หากท่วมหนักและท่วมนาน ความเสียหายเดือดร้อนของประชาชนทวีมากขึ้นเช่นกัน
          ปริมาณน้ำฤดูฝนปี 2561 มากกว่าปีก่อนๆ สังเกตได้จากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่ง ซึ่งเป็นตัวแทนของสถานการณ์น้ำของประเทศก็ว่าได้ 55,000 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 78% ของความจุรวม
          เขื่อนขนาดใหญ่บางแห่งมีปริมาณน้ำไหลเข้ามากักเก็บเกิน 100% หรือใกล้เคียง 100% เช่น เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรีทั้งคู่ เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง เขื่อนนฤบินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก เขื่อนคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์   เป็นต้น
          ตัวเลขปริมาณน้ำเห็นแล้วน่าชื่นใจ เป็นหลักประกันว่า น้ำต้นทุนของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ดีมาก การทำนาปรังก็ดี การปลูกพืชฤดูแล้งก็ดี หรือการใช้น้ำเพื่อบำรุงพืชเศรษฐกิจที่เป็นไม้ยืนต้นก็ดี เป็นเรื่องเบาใจได้มาก
          การบริหารจัดการน้ำในภาวะปริมาณน้ำมากๆ เหล่านี้ กระทำกันอย่างไร?
          ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์  เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนสูง  โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล สทนช. ให้นโยบายว่า การบริหารจัดการน้ำในเขื่อน ไม่มองเฉพาะเป้าหมายของเขื่อนที่ต้องเก็บน้ำอย่างเดียว หรือเร่งระบายน้ำออก เพราะกลัวน้ำล้นเขื่อน ทำให้เขื่อนไม่ปลอดภัย
          แต่การบริหารจัดการน้ำในเขื่อน ไม่ว่าการกักเก็บน้ำ การระบายน้ำ การหน่วงน้ำ  ต้องไหลเลื่อน (dynamic) ตามหลักวิชาการ และยังต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน ต่อพื้นที่อื่น ทั้งในปัจจุบันและอนาคตด้วย
          “ปีนี้จะเห็นได้ว่า  เราหน่วงน้ำในเขื่อนที่มีน้ำมากๆ กันเป็นเวลานานกว่าปกติ เพราะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อพื้นที่และประชาชนท้ายน้ำให้น้อยที่สุด โดยที่เขื่อนเองมีความแข็งแรงพอที่จะรองรับได้”
          เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า  สิ่งสำคัญในการบริหารจัดการน้ำคือการใช้ประโยชน์จากการคาดการณ์ฝน วิเคราะห์น้ำท่าในแต่ละพื้นที่และแต่ละห้วงเวลา ทั้งในระยะสั้น 3 วัน แม่นยำสูง 10 วัน แม่นยำปานกลาง ระยะกลาง แนวโน้ม 1-2 เดือน และระยะยาว 1-2 ปี มาประกอบการวิเคราะห์
          “สถิติอย่างเดียวในปัจจุบันไม่เพียงพอแล้ว เพราะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก จึงต้องอาศัยปัจจัยอย่างอื่นด้วย”
          เลขาธิการ สทนช. ยังกล่าวด้วยว่า นโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบให้น้อยที่สุดคือ พื้นที่ใดที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม ต้องเร่งฟื้นฟูให้กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพราะเป็นความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันเช่นเดียวกับเรื่องข้อมูลน้ำ
          ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ปี 2561 นี้ แม้น้ำฝนดูจะมาก แต่ต้องไม่ลืมว่ามีบางพื้นที่มีปริมาณฝนน้อย มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำไม่ถึง 30% เช่น เขื่อนแม่มอก จ.ลำปาง เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี หรือที่มีปริมาณน้ำไม่ถึง 60% เช่น เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี เป็นต้น
          “เขื่อนที่มีน้ำน้อยมากๆ คงต้องวางแผนทำฝนหลวงเพิ่มน้ำในเขื่อน โดยเฉพาะช่วงปลายฤดูฝนที่ยังมีโอกาสตรงที่ความชื้นยังพอมีอยู่และวางแผนงดทำการเกษตรฤดูแล้ง และมุ่งจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลักก่อน”
          สภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงจนแทบไม่มีเค้าเดิมเหลืออยู่  การบริหารจัดการน้ำปัจจุบันยิ่งต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการที่ละเอียดอ่อน ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ย่อมเป็นความท้าทายหน่วยงานกลางบริหารจัดการน้ำอย่าง สทนช. มากขึ้นเช่นกัน

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำ…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวั…