หมูป่าโมเดลกับโมเดลการบริหารจัดการน้ำของประเทศ

ปฏิบัติการช่วยชีวิตทีมฟุตบอลเยาวชน หมูป่า อะคาเดมี อ.แม่สาย จ.เชียงราย จบลงด้วยความสำเร็จแบบแฮ็ปปี้ เอ็นดิ้ง

การบัญชาการของผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ในขณะนั้น ได้รับการกล่าวถึงมากมาย พลอยเป็นแม่แบบให้ส่วนราชการอื่นนำไปปฏิบัติด้วย

แม้กระทั่งกรณีเขื่อนแก่งกระจานมีน้ำเต็มอ่าง  ผู้ว่าราชการหญิงของ จ.เพชรบุรี ก็มีส่วนสำคัญยิ่งในการคลี่คลายสถานการณ์ มีการเตรียมความพร้อมดีกว่าเดิมมากมาย เพราะปีที่น้ำท่วม อ.เมืองเพชรบุรีนั้นก็เนื่องจากไม่เคยมีเหตุน้ำท่วมใหญ่ขนาดนั้นมาก่อน อันเป็นผลจากพื้นที่ท้ายเขื่อนเพชร ไม่ว่า อ.ท่ายาง หรือ อ.บ้านลาด ต่างสร้างพนังกั้นน้ำ ปิดทางน้ำที่เคยบ่าท่วม ยังผลให้มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลลงท่วมพื้นที่ท้ายน้ำอย่าง อ.เมืองเพชรบุรีแทน  แต่ปีนี้ ผู้ว่าฯ เพชรบุรี คนเดียวกันได้รับเสียงชื่นชมได้ไม่น้อย

อย่างน้อยที่สุด ปฏิบัติการช่วยชีวิตทีมหมูป่า ยังส่งผลสะเทือนในทางที่ดีและน่ายินดี

เปรียบเทียบกับการบริหารจัดการน้ำโดยภาพรวมทั้งประเทศและในระดับพื้นที่ทุกวันนี้ แม้จะบอกว่า มีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นร่มธงใหญ่อยู่เหนือสุดหน่วยงานน้ำ 38 หน่วยงานตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้วก็ตาม แต่ยังมีความลักลั่นในทางปฏิบัติ และยังไม่อาจขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำได้ราบรื่น เฉกเช่นกรณีทีมหมูป่า 13 คนติดน้ำอยู่ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน

ภาพรวมของการจัดการน้ำของ สทนช. ดูดี มีการประชุมส่วนราชการเกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง มีความคืบหน้า สามารถขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาน้ำออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรมหลายแผนงานโครงการ

แต่ในทางปฏิบัติก็เป็นอาการจับปูใส่กระด้งอยู่ไม่น้อย จะว่าเป็นธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงก็คงไม่ผิดนัก   หากด้วยสไตล์การทำงานแบบกัดไม่ปล่อยของ สทนช. รวมทั้งการสนับสนุนจากหัวหน้ารัฐบาลอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ช่วยทำให้เกิดมิติความร่วมมือมากขึ้น

ในทางตรงข้าม ถ้ามัวนั่งคอยฟังรายงานจากหน่วยงานเกี่ยวข้องภายใต้ร่มธงอย่างเดียว สทนช. ก็คงไปไม่รอด ที่รอดได้จนถึงทุกวันนี้ คือการติดตามและตรวจสอบในภาคสนามควบคู่ไปด้วย โดยไม่ฟังรายงานแต่อย่างเดียว ซึ่งเป็นจุดแข็งของ สทนช. ไปในตัว

สภาพที่เป็นปัญหาเท่าที่เห็นมาคือ หน่วยงานในพื้นที่รายงานข้อมูลขึ้นมาแบบไม่ครบถ้วน โดยคิดว่าครบถ้วนแล้ว  เช่น แผนที่จะดำเนินการ หรือการเปลี่ยนแปลงแผน ที่รู้อยู่เฉพาะภายในหน่วยเท่านั้น หรือการเชื่อมต่อการทำงานกับหน่วยงานอื่นเป็นอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคอยู่ตรงไหน ก็คิดเอาว่า ไม่จำเป็นต้องรายงาน สทนช. ด้วย เพราะคิดว่า ไม่จำเป็นหรือไม่สำคัญ

  คำว่า “บูรณาการ” ฟังดู หรู เท่  แต่ในทางปฏิบัติทุกคนยังต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างรายงานของตัว นี่แหละปัญหาจริงๆ ที่เกิดขึ้น และมันถึงทำให้สถานการณ์เข้าสู่จุดอับมากกว่าที่คิด

ลองมองย้อนกลับไปที่ปฏิบัติการช่วยชีวิตทีมหมูป่าในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน

ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นผู้บัญชาการสถานการณ์เพียงคนเดียว

ทุกหน่วยงานต้องรายงานทั้งแผนและผลจากปฏิบัติการ รวมทั้งประเมินในวันถัดไป

แต่ละหน่วยรู้หรือมีข้อมูลอะไร ผู้ว่าฯ เชียงราย ก็ต้องรู้ทุกข้อมูลของทุกหน่วย รู้แผนปฏิบัติการและผลจากปฏิบัติการ รวมทั้งปัญหาอุปสรรค

ผู้ว่าฯ เชียงราย จึงบัญชาการรบด้วยข้อมูลครบถ้วนเป็นจริง ณ วันนั้นๆ และสามารถบัญชาการสถานการณ์ได้อย่างเบ็ดเสร็จหนึ่งเดียว

แล้วกรณี สทนช. ที่ต้องการให้มีการบริหารจัดการน้ำแบบเบ็ดเสร็จ ที่ผู้นำรัฐบาลได้ออกแบบตั้งมากับมือล่ะ??

แม้จะแลดูคล้ายๆ กัน แต่กลับไม่ใช่เสียทีเดียว

ข้อมูล สทนช. กับข้อมูลบางส่วนราชการ จึงไม่เหมือนกัน จนคนภายนอกเอาไปตั้งข้อสังเกตเป็นความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน หรือบุคคลกับบุคคล  ดังกรณีระดับน้ำเพชรบุรีเข้า อ.เมืองเพชรบุรี ที่ออกข่าวไม่ตรงกัน

จริงๆ อาจไม่ถึงขัดแย้ง แต่น่าจะเป็นจุดอ่อนของกระบวนการทำงานมากกว่า โดยเฉพาะความเคยชินที่ว่า หน่วยงานส่วนกลางสั่งการมาหน่วยงานในพื้นที่ทำ ทำแล้วรายงานเจ้านายส่วนกลางของตนเองขึ้นไปเท่านั้น ไม่ได้รายงานถึง สทนช. แต่อย่างใด โดยคิดว่าไม่จำเป็น

แถมหน่วยงานกลางเองก็เคยชินกับการไม่เคยรายงานใคร และไม่เคยมีใครตรวจสอบนอกเหนือจากรัฐมนตรีหรือสูงกว่านั้น

ฐานข้อมูลจึงต่างกัน และต้องหันไปเปรียบเทียบกับแผนปฏิบัติการช่วย 13 หมูป่าของผู้ว่าฯ เชียงรายที่เป็นฐานข้อมูลชุดเดียวกันเสมอ

ดังนั้น จำเป็นต้องกำชับว่า ปฏิบัติการใดก็ตามในพื้นที่วิกฤติ  ต้องรายงาน สทนช. ด้วยเสมอ  ปัญหาก็จะเกิดน้อยหรือไม่เกิดขึ้นเลย

ทำให้การบูรณาการบริหารจัดการน้ำของ สทนช. เป็นไปตามท่วงทำนองที่ชัดเจน และถูกต้อง

  ทุกวันนี้ “ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ” ที่จัดตั้งขึ้นสรุปสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงทุกวัน ก็ด้วยข้อมูลจากหน่วยงานนั้น ผนวกกับข้อมูลที่ตัวเองมี และผลจากการประมวลวิเคราะห์สถานการณ์เท่านั้น

หากมี “ข้อมูลใหม่” จากส่วนราชการภายใต้ร่มธงแล้วไม่รายงานเข้ามา  สถานการณ์น้ำตามประสบการณ์และพื้นที่เสี่ยงก็กลายเป็น “จุดบอด” และเป็น “ความเสี่ยง” ของ สทนช. แทนในทันที หากข้อมูลที่หน่วยงานรายงานมาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง มีการปรุงแต่งข้อมูล ใครจะรู้??

จะเป็น Regulator ก็ดี Commander เหตุการณ์ก็ดี ต้องมีข้อมูลที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะมีได้จากบรรดาหน่วยปฏิบัติหรือ Operator ถึงจะบริหารความเสี่ยงในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสบผลสำเร็จ

 

 

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำ…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวั…