จับตาบทบาท สทนช. จากข้อสั่งการบิ๊กตู่หลังปีใหม่

“ให้สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย เร่งรัดดำเนินการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ โดยให้นำโครงการที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการ และจัดทำเป็นแผนการดำเนินการที่มีระยะเวลาเริ่มต้น-สิ้นสุด ระบุเป้าหมาย ผลที่คาดว่าจะได้รับชัดเจน เพื่อรองรับและป้องกันการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง ให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลเป็นรูปธรรม ภายในปี 2561 ทั้งนี้ให้สร้างการรับรู้ถึงความคืบหน้าของการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำต่างๆ ดังกล่าวให้ประชาชนทราบเป็นระยะๆ อีกด้วย”

ข้างต้นเป็นข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 หลังเปิดทำการปีใหม่ 2561 เป็นวันแรก

ถอดรหัสง่ายๆ ได้ ดังนี้

1.สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นเจ้าภาพวางแผนการแก้ไขปัญหาอุทก-ภัย และภัยแล้งในปี 2561 โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง

2.โครงการทั้งหลายทั้งปวงที่หน่วยงานทั้งหลายวางแผนทำในปี 2561 นั้นต้องมาผ่าน สทนช. เสียก่อน โดยมีความชัดเจนตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการ และหวังผลชัดเจนเช่นไร

3.งานลักษณะนี้ ทำกันทั้งปีคืออุทกภัยกับภัยแล้ง ช่วงนี้จนถึงกลางปีคือภัยแล้ง จากนั้นถึงปลายปีเข้าสู่โหมดอุทกภัย ซึ่งสร้างปัญหาชีวิตให้ประชาชนซ้ำซากปีแล้วปีเล่า ทิศทางตรงนี้จะเริ่มชัดยิ่งขึ้น ทั้งแนวทางและการปฏิบัติที่ต้องให้ผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ดังเบื้องหลังโครงการเตรียมแก้ไขปัญหาอุทกภัยภาคใต้ที่ซุ่มทำกันเงียบๆ ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน 2560 เห็นผลสำเร็จว่า เสียหายน้อยกว่าครั้งก่อนๆ

4.สทนช. ยังต้องส่งผ่านข้อมูลเหล่านี้เพื่อสร้างความรับรู้แก่ประชาชนถึงความคืบหน้าโครงการเป็นระยะๆ ซึ่งไม่น่าจะเป็นข้อมูลรายโครงการ โครงการใคร โครงการมัน แต่จะมีทั้งภาพรวมและภาพย่อยให้เห็นมากกว่าเดิม

สทนช. จึงไม่ใช่เสือกระดาษ หากเป็นเสือลายพาดกลอนเต็มตัว

โดยพื้นฐานของ สทนช. คือองค์กรแก้ไขปัญหาความซ้ำซ้อนของอำนาจ ความรับผิดชอบของส่วนงานต่างๆ ที่กระทำได้อย่างมีขอบเขตจำกัดภายใต้กฎหมายของตัวเอง ไม่ว่ากรมชลประทาน กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ กรมน้ำบาดาล กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นต้น

เป็นองค์กรเดียวที่จะกำหนดนโยบาย วางทิศทางการขับเคลื่อน โดยระดมสรรพกำลังจากหน่วยงานเกี่ยวข้องป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยจากน้ำ ทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วม

เป็นองค์กรกลางอย่างนี้ เผลอก็อาจดีกว่าตั้งเป็นกระทรวงทรัพยากรน้ำด้วยซ้ำ เพราะสามารถระดมสรรพกำลังความร่วมมือจากกระทรวงต่างๆ ได้ดีกว่าตัวเองเป็นกระทรวงน้ำเสียอีก

ไม่น่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่ปรารถนาจะเห็นหน่วยงานนี้เกิดขึ้น หากแต่รัฐบาลในอนาคตไม่ว่าใครเป็นนายกฯ ก็ล้วนต้องการเครื่องมือหรือตัวช่วยที่ดีอย่างนี้เช่นเดียวกัน โดยไม่ต้องออกแรงเบ่งทำคลอด

หน่วยงานที่ต้องปรับตัวมากเป็นพิเศษ หนีไม่พ้นกรมชลประทานที่เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำ ที่ผ่านๆ มาสามารถคิด วางแผน และปฏิบัติการได้เองแทบจะโดยลำพัง โดยหาหน่วยงานใดตรวจสอบกำกับได้ยาก

แต่เมื่อผู้อำนวยการ สทนช. คือ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อดีตอธิบดีกรมชลประทานที่รู้ทั้งทางลึก ทางกว้าง ทางเทคนิค กรมชลประทานเองต้องทำงานหนักกว่าเดิมมากๆ แม่นข้อมูลวิชาการและเทคนิค ชนิดต้องสมบูรณ์แบบแต่ต้นทาง

เป็นการพิสูจน์ความเป็นลายพาดกลอนตรงๆ โดยแท้

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำ…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวั…