พระปฐมบรมราชโองการ การสืบสานงานพัฒนาแหล่งน้ำ


“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาประชาราษฎรตลอดไป” พระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562

               โดยเฉพาะเรื่องน้ำ ทรง “สืบสาน รักษา และต่อยอด” จากพระบรมราชชนก รัชกาลที่ 9 และพระบรมราชชนนี ว่าด้วยการป้องกันบรรเทาอุทกภัยจากสิ่งกีดขวางทางน้ำ และการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างเป็นรูปธรรม

               หลังเกิดเหตุการณ์อุทกภัยใหญ่ในภาคใต้ช่วงปลายปี 2559 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2560 ประชาชนหลายจังหวัดได้รับความเดือดร้อน ทุกข์ทรมาน นอกจากพระราชทานความช่วยเหลือเฉพาะหน้าลงไปแล้ว ทรงรับสั่งให้องคมนตรีลงพื้นที่ติดตามสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข คู่ขนานกับคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) พบว่าส่วนหนึ่งของปัญหาอุทกภัยภาคใต้ คือสิ่งกีดขวางทางน้ำ

               “เป็นที่มาของโครงการแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ 111 แห่งในภาคใต้ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องใกล้จบสิ้นแล้ว” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าว

               ภาคใต้ในปี 2560-2561 จึงเป็นพื้นที่เฝ้าระวังเหตุน้ำท่วม ภายใต้การทำงานเงียบๆ ขององคมนตรี ควบคู่ไปกับการทำงานของหน่วยงานรัฐ ทั้งหลายล้วนอยู่ภายใต้พระเนตรพระกรรณของพระองค์ จนทำให้ภาคใต้รอดพ้นจากปัญหาอุทกภัยต่างไปจากปีก่อน

               สิ่งกีดขวางทางน้ำของภาคใต้ จึงเป็นแม่แบบนำไปสู่การขยายผล บรรจุอยู่ในแผนแม่บทน้ำในทุกภาคทั่วประเทศ 500 แห่ง โดยความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

               “จัดทำเป็นรายลุ่มน้ำ ศึกษาหาข้อสรุปออกมาเป็นแผนปฏิบัติการแก้ไข” ดร.สมเกียรติกล่าว

               คำว่า สิ่งกีดขวางทางน้ำ ประกอบด้วย สิ่งกีดขวางทางน้ำตามธรรมชาติ เช่น  ตะกอนดิน ต้นไม้ล้มขวาง  สิ่งกีดขวางทางน้ำที่มนุษย์สร้าง เช่น ถนน อาคาร สาธารณูปโภค สาธารณูปการ และสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เคลื่อนที่ได้ เช่น กอผักตบชวา หรือขยะมูลฝอย

               ภาพสิ่งกีดขวางทางน้ำในระดับประเทศ จึงก่อตัวเป็นรูปร่างแจ่มชัดขึ้น พร้อมกับแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม อีกหน่อย ปัญหาอุทกภัยของประเทศอันเกิดจากสิ่งกีดขวางทางน้ำย่อมลดลงโดยลำดับ

               ส่วนเรื่องโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ 10 เลขาธิการ สทนช. ขยายความว่า เป็นโครงการที่พระราชทานพระราชดำริตั้งแต่สมัยดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร จากการติดตามสมเด็จพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีไปตามพื้นที่ชนบทห่างไกล  ทรงประจักษ์ถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎร จึงพระราชทานโครงการตามที่ราษฎรประสงค์ และเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำหลายแห่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพิ่มเติม  ดังเช่นที่อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น จ.สกลนคร เมื่อครั้งได้รับความเสียหายจากพายุเซินกาเมื่อกลางปี 2560 

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10  กว่า 100 โครงการทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก มีทั้งที่เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์ และที่เกิดขึ้นจากขอพระราชทานโครงการจากราษฎรในพื้นที่ ซึ่งทุกโครงการล้วนสนับสนุนให้ประชาชนมีน้ำใช้ในทุกกิจกรรม ทั้งเพื่อการอุปโภค-บริโภค การประกอบอาชีพ และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

               เป็นรูปธรรมที่ยืนยันอย่างแจ่มชัดถึงพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาประชาราษฎรตลอดไป

               ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ …

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ พื้นที่กว่…

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…