บัญชีน้ำของชาติตอบโจทย์น้ำเป็นธรรมสำหรับทุกคน

หน่วยงานกลางด้านทรัพยากรน้ำอย่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ย่อมปวดหัวเป็นธรรมดากับการจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง 2562

ว่าอันที่จริง ภาพรวมสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาที่สิ้นสุด 30 ตุลาคม 2561 ไม่ขี้ริ้วขี้เหร่เลย ดีกว่าหลายปีก่อนนี้ด้วยซ้ำ

แต่พอเข้าสู่ฤดูแล้ง ซึ่งกำหนดตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2561-30 เมษายน 2562 บางอย่างก็เปลี่ยนไป ภาพความแห้งแล้งดูจะเกิดขึ้นเร็ว ไม่ต้องพูดถึงพื้นที่นอกเขตชลประทานที่อย่างไรเสียก็กระทบหนักอยู่แล้ว

ในพื้นที่ชลประทานเองมีการใช้น้ำมากกว่าแผนจัดสรรการใช้น้ำ หลักๆเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการทำนาปรังเกินกว่าแผน ตัวเลขที่เป็นทางการก็ 5 แสนไร่ และถ้าไม่เป็นทางการร่วม 1 ล้านไร่

นาข้าวต้องการใช้น้ำเฉลี่ย 1,000-1,200 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ เวลาส่งน้ำต้องส่งเกินเผื่อปัจจัยระเหยและรั่วซึมรวมแล้ว 1,500-2,000 ลบ.ม/ไร่ เมื่อพื้นที่ปลูกเกินกว่าแผน 1 ล้านไร่ น้ำต้นทุนหายไปเท่าไรพอคำนวณออก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับรู้ปัญหาว่า ที่ทำนาปรังเพิ่มจากแผนนั้นส่วนหนึ่งราคาข้าวระดับตันละ 7,000-8,000 บาทก็มีแรงจูงใจให้ทำนาปรังมากขึ้น ในพื้นที่ชลประทานจึงมีทั้งนาปรังครั้งที่1 ครั้งที่ 2 ก่อนเข้าสู่ฤดูนาปีในช่วงฤดุฝน

มิใยที่รัฐบาลจะประกาศล่วงหน้าห้ามทำนาปรัง ให้ไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน เพราะเกรงจะกระทบต่อน้ำต้นทุนในฤดูแล้งต่อเนื่องถึงต้นฤดูฝน 2562 ที่ฝนอาจมาล่าและปริมาณน้ำฝนน้อย

ถ้าทำได้จริงอย่างที่วางแผนคือไม่ส่งน้ำให้ก็ไม่มีปัญหา  แต่ของจริงคนละเรื่อง  เรื่องถึงแดงเมื่อน้ำต้นทุนน้อยลงรวดเร็ว

ทรัพยากรน้ำเป็นของทุกคน ไม่เฉพาะแต่ภาคเกษตรกรรมเท่านั้น ยังมีภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง ระบบนิเวศ ล้วนต้องการใช้น้ำที่มีอยู่จำกัดนี้เช่นกัน

ที่สำคัญน้ำในเขื่อนเป็นน้ำเก็บสำรองไว้ใช้ในอนาคตด้วย หากเร่งใช้จนพร่องเร็วเสียแต่วันนี้มันก็เสี่ยงต่อผลกระทบที่จะตามมา ไม่ต่างจากคนใช้บัตรเครดิตรูดปึ๊ดๆ โดยไม่รู้ว่าถึงเวลาชำระจะมีเงินในบัญชีพอไหม

ผิดไปจากนี้ก็เหนื่อยถ้วนหน้า

น้ำต้นทุนที่ใช้ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา หนีไม่พ้นเขื่อนภูมิพลกับเขื่อนสิริกิติ์ จนถึงนาทีนี้มีปริมาณใช้การเหลือเพียง  3,800-3,000 ล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็น 40-46% ของปริมาณน้ำใช้การรวม ถ้าใช้โดยไม่มีวินัย ต่อไปจะกระทบถึงภาคอื่นดังกล่าวไว้ข้างต้น

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสทนช.จึงวางแผนให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ทั้งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำ จัดทำบัญชีน้ำ ทั้งปริมาณน้ำที่มีอยู่ ปริมาณความต้องการของผู้ใช้น้ำ ที่ต้องสอดประสานกันภายใต้ข้อตกลงการบริหารจัดการน้ำเดียวกัน

“บัญชีน้ำ จะทำให้ทุกคนเห็นภาพได้ชัดเจน ปริมาณน้ำต้นทุนมีเท่าไหร่ ความต้องการใช้เท่าไหร่ จุดเหมาะสมในการจัดสรรให้แค่ไหน การบริหารจัดการน้ำก็จะง่ายขึ้น สทนช.จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนจัดทำบัญชีน้ำ”

น่าจะสอดรับกับสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่า ที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายในเรื่องผลกระทบจากภัยแล้งลดลงได้มาก เพราะมีการจัดการที่ดีขึ้นเป็นลำดับ

ถ้ามีการจัดทำบัญชีน้ำเพื่อสามารถตรวจสอบได้ว่า  น้ำต้นทุนแต่ละลูกบาศก์เมตรเดินทางไปไหน อย่างไร ใครจ่าย ใครใช้  เหมือนระบบบัญชีเดบิต เครดิต อย่างไรก็อย่างนั้น

เท่ากับใช้น้ำทุกหยดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นธรรม แถมไล่เบี้ยตรวจสอบย้อนกลับได้ง่าย โบ้ยบ้ายใครก็ไม่ได้

ถึงเวลาจัดทำบัญชีน้ำเหมือนนโยบายจัดทำบัญชีครัวเรือนได้แล้วกระมัง

 

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ …

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ พื้นที่กว่…

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…