เดินหน้าปรับปรุงคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก หวังแก้อุทกภัยลุ่มเจ้าพระยาแก้น้ำท่วมอย่างเป็นระบบ

รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดชัยนาท ติดตามการขับเคลื่อนโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา เร่งรัดการปรับปรุงคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก ตัดยอดน้ำหลากหน้าเขื่อนเจ้าพระยา 930 ลบ.ม./วินาที แก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นระบบ

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สภาพพื้นที่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างครอบคลุมเนื้อที่ 33 ล้านไร่ มีแม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นพื้นที่ที่มักเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำ โดยมีน้ำท่วมครั้งใหญ่หลายครั้ง เช่น ในปี 2538 , 2545 , 2549 และปี 2554 ซึ่งมีพื้นที่น้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างถึง 9.68 ล้านไร่ โดยจากการคาดการณ์ผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในอีก 35 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งขึ้น จากเดิมเกิดขึ้นทุก 50 ปี จะกลายเป็นทุก 7 ปี และคาดว่าความเสียหายจะทวีความรุนแรงขึ้น จากเดิมมีค่าเฉลี่ยพื้นที่น้ำท่วม 1.66 ล้านไร่ จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.12 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายจากเดิมคิดเป็น 25,691 ล้านบาทต่อปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 150,787 ล้านบาทต่อปี

สำหรับการลงพื้นที่จังหวัดชัยนาทในครั้งนี้เพื่อติดตามการขับเคลื่อนโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม และได้ผลักดันจนได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 ที่มีมติเห็นชอบแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จำนวน 9 แผนงาน ที่ประกอบไปด้วยโครงการขนาดใหญ่และโครงการย่อย และมอบหมายให้ สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา พร้อมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่อยู่ในแผน เพื่อเร่งรัดระยะเวลาการดำเนินการให้สามารถเปิดโครงการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมีโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก เป็น 1 ใน 9 แผนงานนั้น โดยเป็นการปรับปรุงคลองชัยนาท-ป่าสักที่มีอยู่เดิม ให้มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำบริเวณหน้าเขื่อนเจ้าพระยาเป็น 930 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลักษณะเป็นคลองส่งน้ำคู่คลองระบายน้ำ ความยาว 134 กิโลเมตร วงเงิน 36,400 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ในระหว่างสำรวจออกแบบ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2563-2566 นอกจากนั้นจะเป็นการช่วยตัดยอดน้ำหลากในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาได้แล้ว ยังสามารถเก็บน้ำในคลองขุดใหม่ได้ 80 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อดำเนินการร่วมกับคลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย (ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณา EIA และมีแผนดำเนินการก่อสร้างในปี 2565-2568)  เพื่อระบายออกสู่อ่าวไทยอีกทางหนึ่ง จะสามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ถึง 3.48 ล้านไร่

ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สทนช. ได้ทำการสรุปผลการดำเนินงานด้านแหล่งน้ำตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พบว่า ปี 2557-2561 ในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง มีการดำเนินโครงการด้านแหล่งน้ำรวม 6,574 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 2.5 ล้านไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 747,667 ครัวเรือน ซึ่งมีโครงการสำคัญ อาทิ การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำเจ้าพระยา (เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา/ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน และซ่อมแซมปรับปรุงคันกั้นน้ำ) จำนวน 57 โครงการ วงเงิน 2,232.5811 ล้านบาท, การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำท่าจีน (เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำท่าจีน และ ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน) จำนวน 45 โครงการ วงเงิน 2,048.5871 ล้านบาท, ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนโผงเผง ประตูระบายน้ำปากคลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, สถานีสูบน้ำพร้อมอาคารประกอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำชลหารพิจิตร, แผนงานปรับปรุงระบบชลประทานฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก, การพัฒนาแหล่งน้ำ 6 ตำบล อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ปริมาณน้ำต้นทุน 8.1 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 83,200 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 4,500 ครัวเรือน และโครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ โครงการอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

สำหรับการดำเนินการในปี 2562 มีการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งหมด 1,463 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 17,376 ไร่ ประชาชนรับประโยชน์ 27,341 ครัวเรือน มีโครงการสำคัญ อาทิ การศึกษาออกแบบรายละเอียดในการขุดลอกแม่น้ำสายหลักที่ลุ่มน้ำภาคกลาง 7 ลุ่มน้ำ ที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก ท่าจีน แม่กลอง เพชรบุรี ชายฝั่งทะเลประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 20 ล้านบาท, การขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำภายในประเทศที่แม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึง อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง วงเงิน 43.2 ล้านบาท / ขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำแม่น้ำท่าจีน อำเภอสามพราน ถึง อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม วงเงิน 18.9 ล้านบาท / เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา, โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ขุดคลองระบายน้ำหลากพร้อมอาคารประกอบ, แผนงานปรับปรุงระบบชลประทานฝั่งตะวันออก จังหวัดปทุมธานี และแผนงานปรับปรุงระบบชลประทานฝั่งตะวันตก อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

ในส่วนแผนการดำเนินงานในปี 2563 มีทั้งสิ้น 2,700 โครงการ งบประมาณ 24,575.92 ล้านบาท มีพื้นที่รับประโยชน์รวม 42,220 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 101,312 ครัวเรือน โครงการสำคัญ อาทิ การขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำภายในประเทศที่แม่น้ำท่าจีน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ถึง อำเภอกระทุ่มแบน อำเภอเมืองสมุทรสาคร อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร, การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา 31 โครงการ วงเงิน 359 ล้านบาท, การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำท่าจีน 12 โครงการ วงเงิน 173.4 ล้านบาท / ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนท่าจีน ระยะที่ 4  อำเภอเมืองสมุทรสาคร วงเงิน 87 ล้านบาท แผนงานปรับปรุงระบบชลประทานฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ที่อยู่ในขั้นตอนงานศึกษาออกแบบรายละเอียด, การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองทวีวัฒนา ใต้คลองแสนแสบ ใต้คลองเปรมประชากร และโครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก 13 คลองในกรุงเทพมหานคร และการปรับปรุงติดตั้งทุ่นลอยน้ำกันวัชพืช พร้อมอาคารประกอบ ความยาวไม่น้อยกว่า 400 เมตร ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท และสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าคลองชัยนาท-ป่าสัก (ฝั่งซ้าย)

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่างที่ดำเนินการในระยะยาว ได้แก่ การปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกให้ครบทั้งระบบ การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน การตัดยอดน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยา โดยโครงการคลองระบายน้ำหลาก ชัยนาท-ป่าสัก และการพิจารณาแนวทางผันน้ำจาก ชัยนาท-ป่าสัก สู่อ่าวไทย ด้วย

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ …

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ พื้นที่กว่…

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…