ดึงสหกรณ์การเกษตรระดับอำเภอผลิตปุ๋ยใช้เองถูกกว่าตลาด30%

ต้นทุนการผลิตภาคการเกษตรส่วนใหญ่เกิดจากค่าปัจจัยการผลิตที่เกษตรกรจำเป็นต้องใช้สำหรับการเพาะปลูก ทั้งเมล็ดพันธุ์ สารกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ย ที่เป็นต้นทุนการผลิตที่สูงสำหรับเกษตรกร แต่ละปีประเทศไทยมีการนำเข้าปุ๋ยเคมีเพื่อใช้ในการเกษตรปีละประมาณ 5 – 6 ล้านตัน มูลค่ากว่า 72,000 ล้านบาท  ปัจจุบันราคาปุ๋ยในประเทศ มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และเกษตรกรส่วนใหญ่ยังเลือกใช้ปุ๋ยไม่เหมาะสมกับสภาพดิน  ส่งผลทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่ามาตรฐาน รัฐบาลจึงมีแนวคิดที่จะช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตนายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์เร่งหาวิธีลดต้นทุนปัจจัยการผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร่งรัดจัดหาปุ๋ยให้เกษตรกรได้ใช้ในราคาที่ถูกลง  30 %  

                นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ดำเนินนโยบายเกษตรประชารัฐ โดยให้กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ร่วมกันดำเนินโครงการปุ๋ยผสมใช้เองผ่านสหกรณ์การเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร    โดยสนับสนุนให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการผลิตปุ๋ยผสมใช้เองตามค่าการวิเคราะห์ดิน ซึ่งขณะนี้กรมพัฒนาที่ดินได้มีการสำรวจข้อมูลและวิเคราะห์ดินเป็นรายตำบลและอำเภอของทุกจังหวัด ซึ่งจะทำให้รู้ว่าที่ดินบริเวณนั้นขาดธาตุอาหารชนิดใด  พร้อมทั้งกำหนดสูตรปุ๋ยให้มีธาตุสารอาหารที่เหมาะสม เพื่อให้สหกรณ์ได้นำไปเป็นข้อมูลในการผลิตปุ๋ยที่มีแร่ธาตุเหมาะกับสภาพดินและพืชที่จะเพาะปลูก และจำหน่ายให้สมาชิกและเกษตรกรในแต่ละพื้นที่  

            เบื้องต้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีการชี้แจงแนวทางการดำเนินโครงการไปยังสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อเปิดรับสหกรณ์ที่สนใจ มีสถาบันเกษตรกรสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 462 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้มีสหกรณ์ 242 แห่ง ได้แจ้งปริมาณความต้องการแม่ปุ๋ยแล้ว จำนวน 67,609.55 ตัน เพื่อนำไปผลิตปุ๋ยผสมใช้เองจำหน่ายให้กับแก่สมาชิกและเกษตรกรทั่วไป จำนวน 161,462 ราย  และโครงการนี้จะเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาแก้ไขปัญหาปุ๋ยราคาแพง ซึ่งหากสหกรณ์สามารถผลิตปุ๋ยผสมใช้เองขายให้กับเกษตรกร  คาดว่าจะประหยัดลงตันละ 3,378 บาท

             สำหรับแม่ปุ๋ยที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยนั้น ทางชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด จะเป็นตัวกลางจัดหาแม่ปุ๋ยหลัก โดยเจรจากับบริษัทนำเข้าแม่ปุ๋ยเพื่อขอปรับลดราคา เนื่องจากสั่งซื้อรวมกันโดยรวบรวมจากปริมาณความต้องการของสหกรณ์ต่าง ๆ  เพื่อให้ทางชุมนุมสหกรณ์ฯเป็นตัวกลางสั่งซื้อแล้วกระจายต่อให้กับสหกรณ์แต่ละพื้นที่  ซึ่งแม่ปุ๋ยคือปุ๋ยที่มีธาตุอาหารหลักของพืช คือ N P K สูตรเข้มข้น และใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยผสมใช้เอง และเมื่อต้นทุนแม่ปุ๋ยถูกลง ก็จะส่งผลทำให้ปุ๋ยที่สหกรณ์ผลิตออกมา มีราคาถูกกว่าปุ๋ยสูตรสำเร็จตามท้องตลาดทั่วไป

            นอกจากกรมพัฒนาที่ดินที่มีส่วนในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลดินของแต่ละพื้นที่ เพื่อกำหนดสูตรปุ๋ยที่มีแร่ธาตุเหมาะสมกับสภาพดินให้สหกรณ์นำไปผลิตแล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรจะจัดเวทีให้ความรู้แก่เกษตรกรถึงข้อดีในการผลิตปุ๋ยใช้เอง ซึ่งจะมีธาตุอาหารที่เหมาะสมกับการปลูกพืชแต่ละชนิด และส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตและบำรุงดินไม่ให้เสื่อมโทรม  ส่วนกรมวิชาการเกษตรจะคอยให้คำแนะนำตามหลักวิชาการการผสมปุ๋ยเพื่อให้ได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพมาตรฐาน และจะมีการตรวจสอบปุ๋ยที่สหกรณ์ผลิตขึ้น ก่อนจะออกใบอนุญาตผลิตและจำหน่ายปุ๋ยให้กับสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ  เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรที่จะเลือกซื้อไปใช้ ซึ่งสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการสามารถผลิตปุ๋ยจำหน่ายได้ 2 วิธี คือ ผลิตเป็นปุ๋ยสั่งตัด ผสมปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเป็นรายแปลง และผลิตแบบปุ๋ยผสมใช้เองโดยสหกรณ์ผสมปุ๋ยตามสูตรที่สมาชิกเคยใช้และมีความต้องการ หรือผสมปุ๋ยตามข้อมูลชุดดินของกรมพัฒนาที่ดินที่ให้สูตรปุ๋ยที่เหมาะสมกับสภาพดินของแต่ละตำบล

            สำหรับเงินทุนในการผลิตปุ๋ยนั้น ขณะนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้สนับสนุนสินเชื่อในการผลิตและการจัดหาปุ๋ยผ่านสถาบันเกษตกรร วงเงิน 1,300 ล้านบาท เพื่อให้สหกรณ์กู้ยืมไปเป็นทุนหมุนเวียนในการผลิตและจัดหาปุ๋ยมาจำหน่ายให้กับเกษตรกร โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 2 และธ.ก.ส.รับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี

            ด้านนายพิเชษฐ์  วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงแนวทางในการดำเนินโครงการนี้ว่า ในช่วงเดือนมีนาคมนี้  ได้สั่งการสหกรณ์จังหวัดลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตรและธกส. ชี้แจงทำความเข้าใจกับสมาชิกสหกรณ์และคณะกรรมการสหกรณ์  เพื่อให้เห็นถึงประโยชน์ของการสนับสนุนให้สหกรณ์ผลิตปุ๋ยผสมใช้เองจำหน่ายให้กับเกษตรกร  ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้จำนวนมาก และเมื่อเกษตรกรมีรายจ่ายลดลง ก็จะทำให้มีกำไรเหลือจากการเพาะปลูกพืชและมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการจะเริ่มทยอยผลิตปุ๋ยได้ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป เพื่อให้เกษตรกรได้มีปุ๋ยทันใช้ในฤดูกาลผลิตปีนี้  

       

                ทั้งนี้ เป้าหมายในการผลิตปุ๋ยของสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการในช่วงเริ่มโครงการคาดว่าไม่น้อยกว่า 100,000 ตัน และสามารถลดต้นทุนให้กับเกษตรกร  คิดเป็นมูลค่าเกือบ 300 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้หากมีสหกรณ์เห็นประโยชน์ ที่จะช่วยสมาชิกและเกษตรกรลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยผสมเอง ก็สามารถแจ้งความประสงค์และแจ้งปริมาณ ความต้องการแม่ปุ๋ยได้เพิ่มเติม โดยติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด และในอนาคต กรมฯคาดหวังว่าสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จะสามารถนำข้อมูลจากการเก็บค่าวิเคราะห์ดินของสมาชิก เป็นรายแปลงมาเป็นข้อมูลในการวางแผนจัดหาปุ๋ยหรือบริการผสมปุ๋ยที่เหมาะกับสภาพดินตามค่าวิเคราะห์ดินและเหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดเพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกและเกษตรกรต่อไป

 

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำ…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวั…