แก้ไขปัญหาน้ำเชิงระบบ ต้นน้ำชีตอนบน จ.ชัยภูมิ

          ชัยภูมิ เป็นหนึ่งในจังหวัดภาคอีสาน เป็นแหล่งต้นน้ำลำน้ำชีอันยิ่งใหญ่ ควบคู่ไปกับลำน้ำมูลที่มีต้นน้ำอยู่นครราชสีมา ทั้งคู่ไหลผ่านหลายจังหวัดจากตะวันตกไปตะวันออก ก่อนบรรจบกันที่อุบลราชธานี แล้วเกี่ยวก้อยไหลลงแม่น้ำโขง จึงได้ชื่อเป็นลำน้ำสาขาแม่น้ำโขง
          นโยบายของรัฐบาล คสช. คือเก็บน้ำไว้บนผืนแผ่นดินไทยให้ได้มากที่สุด ก่อนปล่อยไหลลงแม่น้ำโขง
          แม้ได้ชื่อเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ แต่ชัยภูมิกลับเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำ เนื่องจากลักษณะพิ้นที่ลาดชัน ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ ฤดูฝนน้ำเชี่ยวแรงไหลลงแม่น้ำชีโดยตรง สร้างปัญหาน้ำล้นตลิ่งและท่วมเขตเมืองชัยภูมิเป็นประจำ
          ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)กล่าวว่า แนวคิดสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้คือพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อตัดยอดน้ำด้านบน และสร้างประโยชน์ให้พื้นที่ด้านล่าง
          อย่างแรก เดิมทีวางแผนก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ต่อมาได้ปรับลดโครงการให้สอดคล้องกับพื้นที่ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางโดยกรมชลประทาน
“เดิมวางแผนก่อสร้างอ่างเก็บน้ำชีบน และอ่างเก็บน้ำยางนาดี แต่มีผู้ได้รับผลกระทบคัดค้าน จึงปรับเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง คืออ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และประตูระบายน้ำชีตอนบนแทน”
          โครงการนี้ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานให้ความเห็นชอบไปแล้วเมื่อปี 2560 โดยอ่างเก็บน้ำชีบน มีความจุ 70.21 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 75,000 ไร่ ระยะเวลาก่อสร้าง พ.ศ.2562-2567
อย่างที่สอง การขับเคลื่อนโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ 9 ซึ่งมีพระราชดำริตั้งแต่ปี 2525 แต่ไม่อาจขับเคลื่อนได้ เนื่องจากอยู่ในเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เป็นแหล่งพันธุกรรมพืชสมุนไพรและสัตว์ป่าสำคัญ
          อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องพิจารณาหาทางเลือกที่เหมาะสม และมีผลกระทบต่อพื้นที่อนุรักษ์น้อยที่สุด โดยที่ยังสามารถพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อประโยชน์ของประชาชนได้
โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงที่คาราคาซังมา 35 ปีก็บรรลุผลสำเร็จ มีขนาดความจุ 46.9 ล้านลูกบาศก์เมตร จากแผนการเดิม 32 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 40,000 ไร่ จากเดิม 24,000 ไร่ โดยกรมชลประทานเริ่มก่อสร้างในปี 2562 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567
          “เป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาน้ำให้กับราษฎร โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มีส่วนสำคัญยิ่งในการทำให้โครงการนี้เป็นจริงขึ้นมา จะเห็นได้ว่า สถานที่ก่อสร้างที่หลีกเลี่ยงผลกระทบให้น้อยที่สุด ยังช่วยให้ขนาดความจุอ่างเพิ่มขึ้น และพื้นที่รับประโยชน์ของราษฎรเพิ่มขึ้นด้วย”
          เป็นความพยายามยิ่งของทุกภาคส่วนที่จะสนองพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งมีเป้าหมายแก้ปัญหาให้ราษฎรนั่นเอง
อย่างที่สาม ก่อนหน้านี้โครงการเขื่อนโปร่งขุนเพชร ซึ่งปิดกั้นลำเชียงทา ลำน้ำสาขาของแม่น้ำชีก็ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง (พ.ศ.2559-2563) ด้วยความจุ 43.70 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 12,000 ไร่
          อย่างที่สี่ โครงการอ่างเก็บน้ำพระอาจารย์จื่อ (ลำกระจวน) ก่อสร้างปิดกั้นลำกระจวนที่ไหลไปบรรจบลำเชียงทาก่อนไหลลงแม่น้ำชี ความจุ 33.44 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 15,000 ไร่ ก็จะเสนอของบประมาณก่อสร้างในปี 2563 กำหนดแล้วเสร็จ ปี 2566
          อย่างที่ห้า พ้นจากนั้นแล้ว พื้นที่ด้านล่างของลำน้ำชี คือ อ.เมืองชัยภูมิ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากก็ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบภายใต้โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ ระยะที่ 1 โดยการผันน้ำเลี่ยงเมือง มีพื้นที่รับประโยชน์ 18,160 ไร่ ระยะเวลาก่อสร้าง ปี 2562-2567
          “ทั้ง 5 โครงการสามารถตอบโจทย์ปัญหาน้ำท่วมและการขาดแคลนน้ำในจังหวัดชัยภูมิได้ชัดเจน โดยมีพื้นที่รับประโยชน์มากกว่า 1.5 แสนไร่ โครงการเหล่านี้ศึกษากันมานาน เปรียบไปก็เหมือนหญิงท้องแก่จะต้องคลอด เมื่อ สทนช. เป็นหน่วยงานกลางก็พยายามเร่งขับเคลื่อนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และเกิดประโยชน์ต่อชาวบ้านในพื้นที่มากมาย” ดร.สมเกียรติกล่าว
          เป็นตัวอย่างหนึ่งของการแก้ไขปัญหาน้ำแบบ Area Based พื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบน เป็น 1 ใน 66 พื้นที่ทั่วประเทศหรือ Area Based 66 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พูดถึงเมื่อไม่กี่วันก่อน

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ …

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ พื้นที่กว่…

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…