นวัตกรรมประตูระบายน้ำ “บานหับเผย” ไขข้อขัดแย้งน้ำจืด-น้ำเค็ม แพรกหนามแดง


        พื้นที่ ต.แพรกหนามแดง  อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เหมือนพื้นที่ใกล้ทะเลทั่วไป ตรงที่มีกิจกรรมการใช้น้ำที่หลากหลายตามสภาพน้ำที่เป็นอยู่ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม
        พื้นที่ 3 น้ำจึงมักมีความขัดแย้งเกิดขึ้นได้เสมอ หากการจัดการเรื่องน้ำไม่ลงตัว ซึ่งเป็นเรื่องยากไม่น้อย เพราะในอดีตไม่เคยเผชิญปัญหานี้มาก่อน
        การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เหล่านี้ จึงแตกต่างจากพื้นที่น้ำจืดทั่วไป เพราะต้องคอยระวังไม่ให้น้ำเค็มรุกล้ำเข้ามา ไม่เช่นนั้นแปลงผัก นาข้าว และบ่อปลาสลิดที่เลี้ยงไว้เสียหาย ขณะเดียวกัน ต้องระวังเช่นกันไม่ให้น้ำจืดระบายลงรวดเร็วและมากมาย เพราะกระทบต่อสัตว์น้ำกร่อยที่เลี้ยงไว้อย่างกุ้งและปลา ถึงขั้นน็อกน้ำตายเช่นกัน
        กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานรวมใจพัฒนาเมืองสามน้ำแพรกหนามแดง  กว่าจะยืนหยัดฝ่าฟันปัญหานี้ได้ต้องใช้เวลานานกว่า 20 ปี
        เป็น 20 ปีท่ามกลางความขัดแย้ง ในการเปิด-ปิดประตูน้ำ รวมทั้งน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม

        นายปัญญา โตกทอง รองประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานรวมใจพัฒนา เมืองสามน้ำแพรกหนามแดง เล่าว่า แม้มีการสร้างประตูระบายน้ำและคันกั้นน้ำเค็มขึ้นมา ทำให้พื้นที่นี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งน้ำจืดและน้ำเค็ม ปัญหาที่ตามมาคือเมื่อเปิดประตูระบายน้ำ นอกจากน้ำจืดจะทะลักมาพร้อมทั้งตะกอนเลนก้นคลองที่เน่าเหม็นเข้ามาด้วย ทำให้ฝั่งน้ำเค็มที่เลี้ยงกุ้งและปลาได้รับความเสียหายถึงขั้นน็อกน้ำตาย กลับกัน เมื่อปิดประตูระบายน้ำ น้ำก็จะบ่าเข้าท่วมฝั่งน้ำจืดทำให้นาข้าว บ่อปลาสลิดเสียหาย
        ความขัดแย้งนี้ดำรงมานาน 20 ปี จนเมื่อนายปัญญาและผู้นำกลุ่ม ได้ไปศึกษาเรียนรู้งานวิจัยท้องถิ่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงนำงานวิจัยนั้นมาประยุกต์ใช้กับคนในพื้นที่ทั้ง 2 ฝ่าย เริ่มด้วยนำแกนนำ 2 ฝั่งมาพบปะพูดคุยกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อละลายพฤติกรรม และถอดบทเรียน โดยให้ต่างฝ่ายต่างได้แสดงความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหา และแนวทางแก้ไข
        เป็นที่มาของ “ประตูน้ำบานหับเผย” ซึ่งประยุกต์จากบานสะวิงฝาปิดท่อดันน้ำในบ่อกุ้ง ซึ่งมีเค้ามาจากบานหับเผยของเรือนไทย
        หับเผย คำว่า หับ-หมายถึง งับหรือปิดลง  เผย-หมายถึง เผยอหรือดันขึ้น โดยมีไม้เป็นตัวค้ำยัน ซึ่งใช้อีกครั้งเมื่อหับลงมา เป็นเสมือนกลอนขัดหน้าต่างนั่นเอง
        บานหับเผยจะออกแบบให้ผลักตัวบานไปสู่ทะเล ในยามน้ำหลากน้ำจืดจะผ่านตัวบานซึ่งออกแบบไว้ในระดับสูงในลักษณะค่อยๆ ระบาย ไม่กระทบต่อพื้นที่ฝั่งน้ำเค็มมากนัก เช่นกันเมื่อน้ำเค็มรุกล้ำขึ้นมา ก็ไม่สามารถผ่านบานหับเผยได้
        ประโยชน์ของบานหับเผยที่เป็นรูปธรรม คือ ทำให้น้ำจืดระดับ 30 – 50 เซนติเมตร ที่มักท่วมพื้นที่นาข้าวถูกระบายออกไปทางฝั่งน้ำเค็มแทน แล้วผสมกับน้ำเค็มเป็นน้ำกร่อย ในขณะที่น้ำทะเลหนุนขึ้นมาก็ไม่สามารถผ่านประตูระบายน้ำบานหับเผยเข้ามาในพื้นที่น้ำจืดได้
        ผลที่ตามมาคือน้ำในคลองฝั่งน้ำจืดเกิดการไหลเวียน ไม่ท่วม และเน่าเสีย ส่วนฝั่งน้ำเค็มได้น้ำกร่อย ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ  เท่ากับได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย
        ประตูระบายน้ำบานหับเผย จึงเป็นนวัตกรรมของชุมชนแพรกหนามแดงที่สร้างประโยชน์แก่ทุกฝ่ายในชุมชน พร้อมทั้งลดทอนความขัดแย้งไปในตัวด้วย

        นอกจากนั้น นวัตกรรมนี้ยังส่งผ่านไปใช้ในพื้นที่อื่น เช่น ต.ตระการ จ.ตราด อ.ปานาเระ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม และในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร
        นายปัญญายังเล่าว่า งานวิจัยท้องถิ่นยังมีเรื่องการขุดลอกคูคลอง ซึ่งแม้จะขุดลอกดินได้ แต่ส่วนที่เป็นตะกอนเลน ซึ่งเป็นที่มาของก๊าซไข่เน่า และแอมโมเนีย ไม่สามารถขุดขึ้นมาได้ ทำให้น้ำบริเวณนั้นยังคงเน่าเสียต่อไปดังเดิม และจะขุดลอกตะกอนดินกี่ครั้ง ดินที่เป็นสภาพเลนก็ยังคงอยู่และสร้างปัญหาไม่มีวันจบสิ้น
        “เรานำเรื่องนี้ไปหารือกับทางกรมชลประทาน เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน เราช่วยออกแบบเครื่องมือโดยใช้นวัตกรรม เป็นเรือดูดเลนสำหรับดูดดินเลนในคลองให้ ซึ่งยังต้องรอการพิจารณาจากกรมชลประทาน เพราะต้องหาเครื่องมือวัดปริมาณเลน ซึ่งไม่เคยมีมา”
        นอกจากบริหารจัดการน้ำด้วยประตูระบายน้ำบานหับเผย  กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานรวมใจพัฒนาฯ จะคอยสังเกตปฏิทินการระบายน้ำของกรมชลประทาน แล้วนำน้ำที่เหลือจากการทำเกษตรปล่อยลงเติมทะเล เพื่อรักษาระบบนิเวศของป่าชายเลนด้วย
        “บางคนมองว่าทำแล้วสูญเปล่า สู้เก็บไว้ทำการเกษตรฤดูแล้งจะดีกว่า  เพราะเขาเองอาจไม่รู้ว่า ฤดูแล้งน้ำทะเลก็แล้งเช่นกัน ไม่มีน้ำจืดเข้ามาเจือจางให้เกิดพื้นที่น้ำกร่อย ทำให้สัตว์ทะเลเติบโตไม่ได้ แต่เมื่อสิ่งที่เราทำเริ่มเห็นผล ระบบนิเวศของป่าชายเลนชายฝั่งก็เริ่มอุดมสมบูรณ์ขึ้น พวกเขาก็เข้าใจและยอมรับ” นายปัญญากล่าว

        นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน เปิดเผยว่า  นวัตกรรมในการจัดการน้ำและวิธีการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้ทุกส่วนได้รับประโยชน์ร่วมกัน ทำให้
        กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานรวมใจพัฒนาเมืองสามน้ำแพรกหนามแดง จ.สมุทรสงคราม ได้รับรางวัลชนะเลิศ สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่น ประจำปี 2562 และได้รับเกียรติร่วมงานวันพืชมงคลของปี 2562 ด้วย
        “เฉพาะนวัตกรรมประตูระบายน้ำบานหับเผยต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ตัวเองนานพอสมควร จนเมื่อแน่ใจว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้ กรมชลประทานจึงอนุมัติให้เป็นแบบมาตรฐานใช้ในคลองแพรกหนามแดงและสามารถนำไปใช้ในพื้นที่ใกล้น้ำทะเลอื่นๆ ได้เช่นกัน”

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ …

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลเดินหน้าปรับปรุงแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย

กรมชลฯ ขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ พื้นที่กว่…

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…