ปรากฏการณ์ 360 องศา ณ ท่าเชียด นาข้าวเปลี่ยนเป็นสวนยางนับแสนไร่


       โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาฝายท่าเชียด จ.พัทลุง ครอบคลุมพื้นที่ 100,000 ไร่เศษ ของ 5 อำเภอ 8 ตำบล ประกอบด้วย อ.เขาชัยสน (ต.เขาชัยสน ต.จองถนน) อ.บางแก้ว (ต.ท่ามะเดื่อ ต.นาปะขอ ต.โคกรัก) อ.ตะโหมด (ต.แม่ขรี) อ.ป่าบอน (ต.ป่าบอน) และ อ.ปากพยูน (ต.ฝาละมี)
       เดิมทีเดียว พื้นที่โครงการเหล่านี้จะเป็นนาข้าวเกือบทั้ง 100% เพราะสภาพดินเหมาะแก่การปลูกข้าว สภาพฝนก็มากพอ มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,642 มิลลิเมตร/ปี แต่จากการขยายพื้นที่การเกษตร และไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนคอยสนับสนุน นอกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น คลองท่าเชียด คลองใหญ่ และคลองตะโหมด ทำให้พื้นที่โครงการท่าเชียดประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ
       โดยเฉพาะ เมื่อราคายางพาราปรับตัวเพิ่มสูงมาก เป็นกิโลกรัมละ 100-200 บาท เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ทำให้เกษตรกรเกือบทั้งโครงการเบนเข็มหันไปเปลี่ยนการผลิตพืชเสียใหม่ จากเดิมที่เป็นปลูกข้าวเกือบทั้งหมด กลายเป็นปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันแทน
       โดยเป็นพื้นที่สวนยางร่วม 90,000 ไร่ สวนปาล์มน้ำมัน 9,000 ไร่ ในขณะเหลือนาข้าวประมาณ 5,000 ไร่ กลายเป็นพืชส่วนน้อยโดยสิ้นเชิง มีผลทำให้การบริหารจัดการน้ำโครงการฯ ท่าเชียด พลอยต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย
       เป็นปรากฏการณ์ และกรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะไม่ค่อยได้เห็นการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเกือบ 360 องศาเช่นนี้นัก ส่วนใหญ่เปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพืชไปเป็นการขยายพื้นที่ชุมชนมากกว่าการเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกเช่นนี้ โดยเฉพาะจากพืชไร่อายุสั้นอย่างข้าว ไปเป็นพืชสวนหรือไม้ยืนต้นอย่างยางพาราและปาล์มน้ำมัน


       นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า กรมชลประทานได้แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียด ด้วยการก่อสร้างแหล่งน้ำต้นทุน คืออ่างเก็บน้ำคลองหัวช้างที่อยู่ด้านเหนือ ความจุ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อส่งน้ำตามลำน้ำเดิมมายังคลองท่าเชียดระยะทาง 30 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของท่าเชียดได้ระดับหนึ่ง
       “แต่สถานการณ์ไม่เป็นดังแผนเสียทีเดียว เนื่องจากมีการสูบน้ำระหว่างทางจากเกษตรกรที่อยู่ท้ายอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง เหนือท่าเชียด ซึ่งไม่อยู่ในแผนการส่งน้ำแต่อย่างใด ทำให้ปริมาณน้ำมาถึงท่าเชียดไม่เป็นไปตามแผน” รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุ


       ขณะที่เกษตรกรที่มีพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้างดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นปลูกสวนยางพารา ซึ่งก็ต้องการน้ำเช่นกัน โดยเฉพาะในฤดูแล้ง
       ปัญหาน้ำที่มีอาการขาดแคลนของท่าเชียดมีจากหลายสาเหตุ ทั้งความเก่าแก่ 47 ปี นับแต่ก่อสร้างแล้วเสร็จจนใช้งานถึงขณะนี้ (พ.ศ.2514-2561) อาคารชลประทานในโครงการมีสภาพทรุดโทรม และไม่เหมาะสำหรับบริบทการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ จากเดิมที่เป็นนาข้าวเกือบทั้งหมด เปลี่ยนเป็นสวนยางพาราเป็นส่วนใหญ่ และสวนปาล์มน้ำมันบางส่วน นาข้าวต้องการน้ำมากระดับหนึ่ง แต่ยางพาราต้องการน้ำน้อย ในขณะปาล์มน้ำมันต้องการน้ำมากกว่าข้าว

       พื้นที่ที่ปลูกข้าวและปาล์มน้ำมัน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลายคลองท่าเชียดที่น้ำจะไหลลงทะเลสาบพัทลุง (ทะเลสาบสงขลา) มีสภาพเป็นพื้นที่มีโอกาสน้ำท่วมจากทะเลสาบได้


       ปัญหาเรื่องน้ำอีกประการหนึ่งเกิดจากกลุ่มผู้ใช้น้ำยังไม่เข้มแข็ง แม้เมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ (JMC) ขึ้นมา แต่ในชั้นแรกที่ให้เลือกตั้งคณะกรรมการกันเองกลับไม่ประสบผลสำเร็จ จนล่าสุด ต้นปี 2561 ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ตัดสินใจเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ โดยแต่งตั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และนายอำเภอ 5 อำเภอ เป็นกรรมการร่วมกับเกษตรกรและตัวแทนกรมชลประทาน ทำให้การขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำโครงการท่าเชียดเริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำ…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวั…