เดินหน้าสร้างดรีมทีม เสริมทัพขับเคลื่อน สทนช.

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ถือกำเนิดขึ้นมาช่วงปลายปี 2560 ไม่มีเวลาวางไข่ ฟักไข่ ตั้งไข่ คลอดแล้วต้องเดินได้ เอาชีวิตรอดได้ทันที 

สำหรับ สทนช. คือการทำงานขับเคลื่อนตามภารกิจได้เลย  ซึ่งเป็นโมเดลการสร้างองค์กรที่มหัศจรรย์พันลึกที่ยากจะเห็นที่ไหน

เพราะบทบาทภารกิจ สทนช. กำกับดูแล ทั้งนโยบาย แผนงาน โครงการ และงบประมาณ  ต้องบูรณาการ 38 หน่วยงาน 7 กระทรวง ในการขับเคลื่อนเรื่องน้ำ แต่มีกำลังคนเพียงแค่หยิบมือเดียว สถานที่แสนคับแคบ  แทบผลัดกันนั่งทำงาน  อุปกรณ์ส่วนใหญ่ได้ของเก่าที่เขาโละให้มา ฯลฯ

เป็นหนังคนละม้วนกับความเป็นองค์กรน้ำแห่งชาติที่รัฐบาลมอบหมายภารกิจยิ่งใหญ่ให้ขับเคลื่อน

ความจริงองค์กรชนิดกดปุ่มปุ๊บ ทำงานปั๊บได้เลยอย่างนี้  ต้องได้รับการสนับสนุนเต็มเหนี่ยวในทุกด้าน ไม่ว่ากำลังคน งบประมาณ เครื่องมือเครื่องไม้ ไม่ใช่สภาพขาดแคลนอย่างนี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรได้รับรู้ความจริงข้อนี้ในฐานะผู้ทำคลอด สทนช. มากับมือด้วยมาตรา 44

ในทางตรงกันข้าม การออกแบบองค์กรกับแรงสนับสนุนที่ไม่สมดุลกัน จะทำให้คนแค่หยิบมือเดียวเหล่านี้ ค่อยๆ หมดแรงกายและหมดใจกับภารกิจยิ่งใหญ่ระดับชาติ

สุดท้าย สทนช. อาจไม่สามารถเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการน้ำประเทศตามเจตนารมณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้

ท่ามกลางความยากลำบากนี้ สำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.) ยังเลือก สทนช. เป็นหน่วยงานแรกของโครงการพัฒนานักยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปประเทศเชิงบูรณาการ (Strategist Development Program)

พูดเข้าใจง่ายๆ คือการสร้างนักยุทธศาสตร์ป้อน สทนช.

เหตุผลทางการคือเป็นองค์กรใหม่ ขาดแคลนกำลังคน แต่เหตุผลที่ลึกลงไปน่าจะเป็นด้วยลักษณะงานของ สทนช. เป็นหน่วยงานบูรณาการ และน่าจะเห็นความตั้งใจขับเคลื่อนขององค์กร โดยเฉพาะผู้นำ สทนช. อย่าง ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ที่สามารถผลักดัน สทนช. ให้เป็นตัวตนได้ในเวลาอันน้อยนิด

คนหยิบมือเดียวที่มีอยู่ แก่นแกนมาจากกรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำ

แต่คนที่ต้องการตามโครงการนี้คือมันสมองที่จะเป็นดรีมทีมช่วยขับเคลื่อนองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ

สทนช. เป็นส่วนราชการ แต่ทำงานไม่ต่างจากเอกชน ทำงานหนักแข่งกับเวลาที่มีตั้งแต่เรื่องเฉพาะหน้าใหญ่ๆ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ยุทธศาสตร์น้ำของประเทศทั้ง 20 ปี 12 ปี และ 5 ปี ไล่ไปจนกระทั่งการรับมือฤดูน้ำหลากที่กำลังมาถึง

ถ้าทำงานแบบราชการทั่วไป ป่านนี้ สทนช. คงมีจุดจบอย่างที่มีคนปรามาสไว้ตั้งแต่จัดตั้งขึ้นมาว่า จะไปได้สักกี่น้ำ

ทำงานแบบเอกชนแล้ว ยังต้องคิดนอกกรอบ ต้องไปไกลในฐานะหน่วยงานกำกับหรือ Regulator ที่เข้าใจและรู้เท่าทันหน่วยงานปฏิบัติ หรือ Operator ที่ไม่เคยมีใครกำกับเช่นนี้มาก่อน

ไม่เช่นนั้น ไม่อาจบูรณาการงานด้านน้ำได้เลย นอกจากเป็นเจว็ดอย่างเดียว

นักยุทธศาสตร์จะหากันได้ที่ไหน กพ. เอง หรือ สทนช. ก็ไม่รู้ แต่ไม่ลองไม่รู้ จัดทำโครงการเสร็จประกาศรับสมัครข้าราชการพลเรือนเป็นนักยุทธศาสตร์ 14 คน ลุ้นว่าจะมากันกี่คน แต่ผิดคาดเพราะมาสมัครมากถึง 130 คน

เป็นความมหัศจรรย์เช่นกัน

สทนช. ต้องการนักยุทธศาสตร์ฯ สำหรับงาน 3 ด้านสำคัญ

หนึ่ง  ยุทธศาสตร์น้ำที่ต้องเกี่ยวเนื่องกับมิติด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) และมิติด้านเศรษฐกิจและสังคม มากกว่าเรื่องน้ำโดดๆ โดยลำพัง ต้องชัดเจนในเป้าหมายและตัวชี้วัดให้ถึงผลสัมฤทธิ์

สอง คลังข้อมูล ซึ่งมีข้อมูลมากมาย เป็น Big Data ที่ชอบพูดกันเอิกเกริก แต่ยากจะหาคนชำนาญในการบริหารจัดการข้อมูลนี้ไปใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำได้อย่างจริงจัง ถ้าใช้เป็นจะเกิดคุณูปการสำหรับประเทศไทยอีกมากมาย ดังเช่นธุรกิจเอกชนทำมาแล้ว

สาม กฎหมาย เฉพาะ สทนช. มีร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ….. ที่ยังไม่สะเด็ดน้ำทีเดียว ต้องศึกษากรอบแนวคิด และร่างอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูกออกมาอีกทอดหนึ่ง รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ภาพงานเหล่านี้ชี้ชัดว่า สทนช. ต้องการดรีมทีมแต่ละชุดมาดำเนินภารกิจเหล่านี้ให้สำเร็จลุล่วง เพราะล้วนเป็นทิศทางใหญ่ขององค์กรที่จะรองรับอนาคตของ สทนช. ทั้งสิ้น

น่ายินดีที่คนสมัครเข้ามาเป็นนักยุทธศาสตร์เป็นคนหนุ่มสาวไฟแรง การศึกษาดี บางคนเป็นนักเรียนทุน เหตุผลหนึ่งที่มาสมัครคือ ต้องการทำงานที่ท้าทายความรู้ความสามารถ ซึ่งที่ทำงานเดิมอาจมีข้อจำกัดไม่สามารถเปล่งศักยภาพออกมาได้ แต่เวที สทนช. โจทย์ชัดเจนกว่า เปิดช่องได้มากกว่า เพราะ สทนช. ต้องการมุมมองนอกกรอบด้วย

เพราะ สทนช. มีฐานะเป็น Regulator ต้องวางแผนการเล่นให้ Operator ได้ และประสบชัยชนะคือประชาชนและประเทศได้รับประโยชน์ตามแผนที่วางไว้

งานของ สทนช. จึงเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญที่ไม่อาจปล่อยให้ดิ้นรนกันเองแต่ลำพัง โดยเฉพาะรัฐบาลต้องสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่

อย่าลืมว่า สทนช. ก็เป็นหน้าตาของรัฐบาล  ถ้าสำเร็จก็ถือเป็นผลงานที่สำคัญที่สามารถบริหารจัดการน้ำของประเทศที่เผชิญปัญหาแต่ละหน่วยงาน ต่างคน ต่างทำ มาโดยตลอด  แต่หากไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างที่ตั้งใจไว้ รัฐบาลเองก็ต้องหันกลับมาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำ…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวั…