มหัศจรรย์ยางชุม

ยางชุมเป็นชื่ออ่างเก็บน้ำ ในพื้นที่ อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2546 ให้กรมชลประทานเพิ่มความจุอ่าง โดยให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายใน 2 ปีไม่เกินปี 2548

ขณะเดียวกัน ให้สร้างฝายต้นน้ำ สระน้ำขนาดเล็กตามลำห้วยเหนืออ่างเก็บน้ำยางชุม เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ ชะลอน้ำท่วม ให้ความชุ่มชื้นแก่ป่า และช้างมีน้ำกิน

เบื้องหลังการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำยางชุมนั้น นายไพรัตน์ ทับประเสริฐ  หัวหน้าโครงการก่อสร้างในขณะนั้นเล่าว่า กรมชลประทานวางแผน ยกระดับความสูงสันเขื่อน 3 เมตร จะเพิ่มความจุจาก 32 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 41 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี จากปี 2547- 2549 แต่พระองค์ทรงขอให้เสร็จภายใน 2 ปี คือปี 2548

“รับสั่งอย่างนั้น ผู้ใหญ่กรมชลประทานน้อมรับ โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะทำกันยังไง ระยะเวลา 2 ปี เท่ากับทำงานจริงแค่ 1 ปี เพราะต้องหยุดก่อสร้างช่วงฤดูฝนปีละ 6 เดือน”

ฝ่ายก่อสร้างจึงทำงานกันวันละ 24 ชั่วโมง แบ่งเป็น 3 กะ และวางแผนส่งไม้ระหว่างกะให้ทำงานต่อรอบกันโดยไม่สะดุด  ส่วนแบบก่อสร้างแม้จะออกแบบมาบ้าง ยังต้องอาศัยแก้กันหน้างาน

“ช่วงก่อสร้างจะมีรถตู้ทะเบียนอักษร ด มาจอดไกลๆมาดูเป็นระยะๆ ซึ่งต่อมาทุกคนก็รู้ว่าเป็นรถจากสำนักพระราชวัง แต่ไม่รู้ว่ามีใครมาบ้าง  หรือบางครั้งก็มีเฮลิคอปเตอร์บินวนเหนือที่ก่อสร้าง ที่สำคัญมีเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังมาบอกว่า ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้  พอเราถาม ก็บอกว่าให้ทำอย่างนี้ก็แล้วกัน ทั้งที่โดยปกติแล้ว ไม่เคยเข้ามาสั่งการแบบนี้เลย” นายไพรัตน์เล่า

ไม่น่าเชื่อ การเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำยางชุมก็สำเร็จภายใน 2 ปีตามรับสั่ง ขณะที่คนงานถอนตัวออกไปแทบหมด มีหมายกำหนดการล่วงหน้า 5 วันว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะเสด็จฯมาเยี่ยมชมโครงการ โดยทางเฮลิคอปเตอร์ อีกทั้งทรงต้องการดูป่ากุยบุรี ซึ่งทางรถยนต์เข้าไปไม่ถึง เพราะมีอ่างเก็บน้ำยางชุมขวางอยู่

ต้องหาสถานที่ให้ ฮ.พระที่นั่งลงจอด “หาเท่าไรก็ไม่ได้ ตัดสินใจใช้สันเขื่อนเป็นสถานที่ลงจอด ก็ต้องเร่งระดมคนปูอิฐและทำอะไรต่อมิอะไร กำลังคนก็ไม่เหลือ ต้องอาศัยพระเณรในวัดบริเวณนั้นมาช่วยทำจนแล้วเสร็จจนได้”

วันรับเสด็จฯก็เป็นเหมือนดังที่องคมนตรี สวัสดิ์ วัฒนายากร เคยเล่า คือโปรดให้คนปฏิบัติงานจริงถวายรายงาน “ครั้งนี้พระองค์ท่านรับสั่งให้ผม ซึ่งอยู่ท้ายแถวมาถวายรายงาน โดยที่ผมเองไม่ได้เตรียมตัวแม้แต่น้อยเลย”

หลังเสด็จเพียง 5 วัน ฝนฟ้าก็โปรยปรายลงมาอย่างหนัก น้ำเต็มอ่างความจุ 41 ล้านลูกบาศก์เมตร ล้นทางระบายน้ำล้นด้วยซ้ำ เป็นที่อัศจรรย์นัก  หากสร้าง 3 ปีตามกำหนดเดิม ปีนั้นกุยบุรีคงท่วมทั้งอำเภอ เสียหายมากกว่าค่าก่อสร้าง 180 ล้านบาทแน่นอน

ไม่มีใครรู้ว่า เหตุใดพระองค์รับสั่งให้เร่งก่อสร้าง พอๆกับที่ไม่รู้ว่า ก่อนนั้นเมื่อเดือนกันยายน 2537 ในขณะกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนว่า พายุซูเปอร์ไค้ฝุ่นแอนเจล่าจะพัดเข้าไทยด้วยความเร็วลมกว่า 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีแต่พระเจ้าอยู่หัวเท่านั้นที่ทรงรู้ และมีรับสั่งว่า “ไม่เข้า…อธิบดี   แอนเจล่าไม่เข้าแน่ ไม่ต้องตกใจ….และสุดท้ายแอนเจล่าหักมุม 90 องศาเลี้ยวขึ้นไปจีน”

น่าอัศจรรย์ใจเหลือเกิน

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำ…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวั…