นับหนึ่งจากสทนช.เป้าหมายยกระดับสู่ “กระทรวงน้ำ”


ทุกรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศ

               แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำ จากเดิมที่อาศัย 40 หน่วยงานที่กระจัดกระจายอยู่หลายกระทรวง เหลือเป็นแกนหลักเพียงหน่วยงานเดียว

               สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จึงถือกำเนิดขึ้นมา ภายใต้การทำคลอดฉุกเฉินของ พล.อ.ประยุทธ์ และกำกับเองภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี

               เป็นการคลอด สทนช. ที่มีคนแค่หยิบมือเดียว และแผนยุทธศาสตร์น้ำเท่านั้น โดยที่ยังไม่มีกฏหมายรองรับเลย  เพิ่งผ่าน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และมีผลบังคับใช้ก็ปลายมกราคม 2562 หลัดๆ นี้เอง

               สทนช. ที่คลอดก่อนกำหนด เลยต้องเป็นเด็กโตเร็ว เดิน วิ่ง ได้ทันทีโดยไม่ต้องคลาน

               แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ใส่ใจกับงานของ สทนช. มาก คล้ายเดิมพันความสำเร็จและล้มเหลว ไปประชุมสัญจรที่ไหนแนะนำหน่วยงานใหม่และหนีบเลขาธิการ สทนช. ดร.สมกียรติ ประจำวงษ์ เป็นประจำเสมอ ซึ่งไม่เคยได้เห็นในรัฐบาลไหนๆ มาก่อนเลย 

               แถมไม่ต้องใช้ไหว้ครูนาน  แต่ให้รบตะลุมบอนงานใหญ่กันเลย

               ตั้งแต่น้ำกินน้ำใช้ในครัวเรือน น้ำภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เหล่านี้ต้องมีแผน ยุทธศาสตร์ และกำกับหน่วยงานปฏิบัติทั้งหลาย ว่าด้วยแผนงานโครงการ งบประมาณ การติดตามตรวจสอบ

               บางคนปรามาส สทนช. ด้วยซ้ำว่าไปได้ไม่กี่น้ำ  เพราะ 40 หน่วยงาน ล้วนเคยทำเอง กำกับเอง จู่ๆ มีหน่วยงานเพิ่งตั้งไข่จากภายนอกข้ามมากำกับจะได้ง่ายๆ หรือ  ต้องอาศัยหลากหลายวิธีการ สทนช. จึงฝ่าคลื่นลมเห็นรูปร่าง เห็นทิศทาง เห็นอนาคตการบริหารจัดการน้ำของประเทศเป็นระบบและเอกภาพได้ ทั้งความชัดเจนเรื่องปริมาณน้ำ เม็ดเงิน เจ้าภาพงาน กระบวนการ วิธีการจัดการ และ ฯลฯ ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

               ผลงานที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง การแก้ไขปัญหาน้ำหลากท่วมในฤดูฝน นับจากปี 2561 จนมาถึงฤดูแล้ง 2561/2562 และฤดูฝน 2562 ในขณะนี้ มีแผนยุทธศาสตร์ มีแผนงานโครงการ มีงบประมาณสำหรับพื้นที่เป้าหมายพร้อมในระดับหนึ่ง มีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์น้ำ มีการปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้ทันสมัย กระชับขึ้น ภายใต้ความพยายามเก็บน้ำทุกเม็ด เพราะโจทย์ใหญ่ปริมาณฝนน้อย และฤดูแล้ง 2562/2563 ที่จ่อรออยู่ปลายปีนี้ และ ฯลฯ

               พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นประธานเปิดงาน “สร้างรู้ สื่อสาร การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูฝน ปี 2562” ที่จัดขึ้นโดย สทนช. ณ สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ถ้าไม่ติดเคลียร์ปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ยังไม่ลงตัวดี  น่าจะมีเวลาให้เดินดูงานได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะการสร้างความรู้และการสื่อสารการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนที่เป็นหัวใจของงานและส่งสารต่อไปยังประชาชน

              ความสำเร็จในการขับเคลื่อนบริหารจัดการน้ำผ่าน สทนช. ยังก่อตัวควบคู่ไปกับแนวคิดจัดตั้ง “กระทรวงน้ำ” ที่คิดกันมานาน แต่ไม่เป็นจริงเสียที เพราะมีแต่หน่วยงานปฏิบัติการ (Operator) 40 หน่วย แต่ไม่มีหน่วยกำกับ (Regulator) ภาพรวมแม้แต่หน่วยเดียว

               เมื่อ Regulator อย่าง สทนช. ตั้งไข่และและขับเคลื่อนได้แล้ว  ต่อไปหนีไม่พ้นการจัดตั้งกระทรวงน้ำ เพื่อให้เดินหน้าทั้งงาน เงิน และกำกับให้คุณให้โทษกับคนด้วย          

โดยมีอำนาจเต็ม ภายใต้การจัดแบ่งโครงสร้างและภารกิจที่ชัดเจน ไม่ต้องบริหารผ่านหลายกระทรวงยุ่งยากเหมือนทุกวันนี้ และทุกกิจกรรมน้ำมีที่ทางอยู่ในกระทรวงเดียว ทั้งอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การรักษาระบบนิเวศ การท่องเที่ยว การเชื่อมโยงกับต่างประเทศ และ ฯลฯ ดูซิว่ากระทรวงน้ำจะเป็นกระทรวงเกรดเอ ที่นักการเมืองต่างแย่งกันเหมือนตอนนี้หรือไม่

               สทนช. ถือเป็นเนื้องานตั้งต้นของ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังผลิดอกออกผลเป็นกระทรวงน้ำ บริหารจัดการน้ำของประเทศต่อไปในบั้นปลาย

            น่าจะทันช่วงรัฐบาลใหม่ที่มีนายกรัฐมตรีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำ…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวั…