กรมชลเดินหน้าแก้ปัญหาน้ำภาคใต้ เร่งศึกษาอ่างคลองใหญ่-ปตร.ตรัง

ภาคใต้มีพื้นที่ครอบคลุม 14 จังหวัด และเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประเทศ แต่ในช่วงฤดูฝนของทุกปี ก็มักจะประสบปัญหาอุทกภัย เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากมรสุมและพายุที่พัดเข้ามาโดยตรง สร้างความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจอย่างมาก ซึ่งการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นโครงการขนาดใหญ่ หลายโครงการที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว และกำลังจะเริ่มดำเนินการในปี 2562 คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี และใช้งบประมาณที่สูง รวมถึงขั้นตอนการจัดทำแผน การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องใช้เวลาพอสมควร และต้องรับฟังประชาพิจารณ์ การทำ EIA ให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะเริ่มดำเนินการได้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเริ่มนับหนึ่งแล้ว ในวันข้างหน้าก็จะประสบความสำเร็จแน่นอน

               ดังเช่นโครงการ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแหล่งเก็บน้ำต้นทุนสำคัญและช่วยบรรเทาอุทกภัย รวมทั้งลดความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง หวังยกคุณภาพชีวิตราษฎร ในพื้นที่ลุ่มน้ำนาท่อม พื้นที่ชลประทานของ 2 อำเภอ คือ อ.ศรีนครินทร์ และอ.เมือง จ.พัทลุง ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พืชที่เพาะปลูก ได้แก่ ข้าวและยางพารา และมักจะประสบกับปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตรเกือบทุกปี

ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีระยะเวลาศึกษา 360 วัน เริ่มตั้งแต่ 18 เมษายน 2562 จนถึง 11 เมษายน 2563 ซึ่งโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาบรรทัด ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม(โซน C) มากกว่า 500 ไร่ และมีพื้นที่อ่างเก็บน้ำบางส่วนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จึงเข้าข่ายประเภทและขนาดโครงการที่จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 54

“เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์” รองอธิบดีกรมชลประทาน  ได้ให้รายละเอียดในเรื่องนี้ว่า เบื้องต้นจากการพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบเราพบว่า ชาวบ้านมีความกังวล เรื่องของพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย เนื่องจากมีการลงทุนทำสวนยางพาราและสวนผลไม้ในราว ๆ ปี 2549-2550 และเป็นที่ดินทำกินซึ่งสืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษ

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวกรมชลประทาน จำเป็นที่จะต้องสื่อสารและทำความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยมองถึงส่วนเสียได้ส่วนเสียของแต่ละภาคส่วน เช่น ภาคประชาชนในจังหวัดพัทลุง คือ การบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วม น้ำใช้ในพื้นที่ทำการเกษตร การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จะสร้างรายได้ในกับคนในชุมชนใกล้เคียง ขณะที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เราจะต้องให้ความสำคัญ โดยพร้อมที่จะจัดหาที่อยู่อาศัย หรือที่ทำกินให้ใหม่

เสียงสะท้อนจากชาวบ้านซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อย่าง ประจวบวิสุทธิ์ จันทร์ตรี อายุ 54 ปี ชาวบ้าน ม.1ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ กล่าวว่า ผมเห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว เพราะโครงการนี้จะมีผู้ได้รับผลประโยชน์มากกว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่หากจะทำจะต้องมาพูดคุยเรื่องผลได้ผลเสียกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยพื้นที่บ้านและสวนผลไม้ของผมอยู่ในพื้นที่การก่อสร้างดังกล่าว ซึ่งเป็นพื้นที่ ภ.บ.ท.5 ที่พ่อแม่ ตายาย เข้ามาทำกินตั้งแต่ปี 2498-2500 ชาวบ้านหลายรายเพิ่งจะทราบเรื่องว่าจะมีโครงการนี้เกิดขึ้นในวันนี้ หากทางรัฐต้องการที่จะก่อสร้างก็ควรที่จะให้ผลตอบแทนอย่างสมดุลกับการเสียผลประโยชน์ของชาวบ้าน และ ชาวบ้านจะนัดประชุมเพื่อหารือก่อนที่จะให้ตัวแทนยื่นข้อเสนอต่อกรมชลประทานอีกครั้งหนึ่ง

เช่นเดียวกับ “ไพรัตน์ แก้วเสน” ชาวบ้าน ม.1 ต.บ้านนา กล่าวว่า ผมเข้าใจดีว่าโครงการนี้ได้รับประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ของจังหวัดพัทลุง แต่ก็มีผลกระทบกับคนอีกครึ่งหมู่บ้าน จะต้องมีการตกลงว่า เมื่อเราไม่ได้อยู่ตรงนี้แล้ว จะให้เราไปอยู่ตรงไหน อย่างคนรุ่นผมที่อายุ 60 ปี แล้ว เราไม่อยากจะต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่บนพื้นที่ใหม่ โดยไม่รู้ว่าพื้นที่ตรงนั้นเราจะทำมาหากินอย่างไร

“ข้อเสนอของผมคือ พื้นที่ใหม่จะต้องเหมาะสมกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่มาแต่ดั้งเดิม รัฐอาจจะต้องมีเงินทุนเพื่อเป็นต้นทุนให้เราได้ใช้จ่ายจัดการกับวิถีชีวิตใหม่ ผมยอมได้ แต่ตัวเราและคนในหมู่บ้านต้องอยู่ได้ด้วย” ไพรัตน์บอกกับเราในสวนจำปาดะ ผลไม้พื้นถิ่น ซึ่งอยู่เขตที่จะต้องจมน้ำหากการสร้างอ่างเก็บน้ำเกิดขึ้น

ขณะที่โครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่น้ำจังหวัดตรัง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ส่วนประตูระบายน้ำ เพื่อควบคุมการไหลของน้ำก่อนไหลผ่านบริเวณตัวเมือง และทดน้ำเข้าคลองผันน้ำหลาก โดยมีการออกแบบให้สามารถระบายน้ำสูงสุดได้ไม่น้อยกว่า 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งมีพื้นที่ที่เหมาะสมจากการศึกษาเบื้องต้นบริเวณด้านท้ายน้ำของสะพานโคกสูง ท่าส้มหรือห่างจากปากคลองผันน้ำมาทางด้านท้ายน้ำของแม่น้ำตรังประมาณ 1,600 เมตร มีระยะทางระหว่างแนวคันกั้นน้ำฝั่งซ้าย-ขวาประมาณ 400 เมตร มีระยะทางระหว่างตลิ่งซ้าย-ตลิ่งขวา ประมาณ 300 เมตร โดยบริเวณดังกล่าวมีระดับท้องแม่น้ำต่ำกว่า ระดับน้ำทะเล 2 เมตร และมีระดับตลิ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเล 8.36 เมตร ส่วนที่ 2.การขุดลอกและปรับปรุงแม่น้ำตรัง พร้อมขุดช่องลัดแม่น้ำตรังช่วงท้ายน้ำ เนื่องจากจุดบรรจบคลองผันน้ำ มีลักษณะคดเคี้ยว เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ โดยการขุดแบ่งเป็น 4 แนว ได้แก่ 1.ขุดช่องลัดใหม่บริเวณตำบลนาโต๊ะหมิง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง 2.ขุดช่องลัดใหม่ บริเวณตำบลโคกยาง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง 3.ปรับปรุงแนวคลองเดิมบริเวณตำบลโคกยาง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และ 4.ปรับปรุงแนวคลองเดิมบริเวณตำบลควนธานี อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง รวมระยะทาง 2.03 กิโลเมตร ช่วยย่นระยะทางได้ 6.04 กิโลเมตร จากระยะทางเดิม 8 กิโลเมตร

          โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำตรัง มีชาวบ้านได้รับผลกระทบและต้องมีการเวนคืนที่ดิน จำนวน 17 ราย 19 ไร่ การจัดทำโครงการต้องให้ความยุตธรรมในเรื่องของการเวนคืนที่ดินทั้งราคาที่ดิน ผลอาสินต่าง ๆ โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความยุติธรรมและพึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนงบประมาณการเวนคืนนั้นยังไม่ได้ตั้งไว้ ต้องพิจารณาราคาประเมินที่ดิน ราคาซื้อขาย หรือราคาของภาครัฐและต้องศึกษาครอบคลุม ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต

          นายพิทักษ์ หาบหา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 บ้านเกาะเคียม ตำบลกันตังใต้ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง กล่าวว่า บริเวณหัวสะพานคลองขุด บ้านเกาะเคี่ยม ตำบลกันตังใต้ ซึ่งเป็นจุดท้ายน้ำของโครงการฯ จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำหากอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดน้ำท่วม ปริมาณน้ำจะไหลหลากลงพื้นที่เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำ ทำให้ปลา หอยที่เลี้ยงในกะชังได้รับความเสียหาย แม้ว่าทางกรมชลประทานจะมีโครงการพื้นดังบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ท้ายน้ำจะประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก สาเหตุหนึ่งมาจากคลองตื้นเขิน ชาวบ้านจึงร้องขอไปยังหน่วยงานภาครัฐมาช่วยขุดลอกคลองระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ให้ลึกเพื่อให้น้ำไหลลงทะเลได้สะดวก

          ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำตรัง ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เนื่องจากปริมาณน้ำจากแม่น้ำตรัง ที่ไหลล้นเข้าท่วมในเขตอำเภอเมืองและพื้นที่ใกล้เคียง จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน และกระทบต่อความเป็นอยู่ของราษฎรเป็นอย่างมาก การก่อเกิดโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตรัง ซึ่งในขณะนั้นเสนอให้ดำเนินการขุดลอกและขยายลำน้ำเดิม ขุดช่องลัด ขุดคลองผันน้ำ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมมากนัก

การศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมประตูระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง ของกรมชลประทาน โดยประตูระบายน้ำแห่งนี้จะทำหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเข้าสู่ตัวเมืองตรังได้มากกว่า 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./วินาที) ในช่วงฤดูน้ำหลาก และทดน้ำเข้าคลองผันน้ำในอัตราที่เหมาะสม สอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่ อีกทั้ง ยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้อีกด้วย

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำ…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวั…