กะเทาะเปลือกลูกเล่นพ่อค้าทุเรียนจีน (2)

จำได้แม่นว่าช่วงต้นเดือนเมษายน 2561ที่ผ่านมา หลังจากได้รับคำยืนยันจากเพื่อนคนจีนชัดว่า นักธุรกิจนำเข้าผลไม้จากทั่วทุกมุมโลกของจีน จะบินมาดูสวนทุเรียนดินภูเขาไฟที่ บ้านซำขี้เหล็ก ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกทุเรียนดินภูเขาไฟใหญ่สุดในอีสานใต้

แม้ว่าจะได้รับคำยืนยันว่า “พ่อค้าทุเรียนจีน” จะบินมาแน่นอน แต่ก็ยังไม่มั่นใจเต็มร้อยว่า งานนี้ของจริงหรือของปลอมกันแน่ เพราะเพื่อนหลายคนเตือนให้ระวังการทำธุรกิจกับพ่อค้าจีน(บางคน)เอาไว้ จนกระทั่งได้พบเจอคณะพ่อค้าทุเรียนจีน 4 คนตัวเป็นๆ ที่สนามบินนานาชาติอุบลราชธานีในวันนั้น จึงมั่นใจในระดับหนึ่งว่า โอกาสส่งออกทุเรียนดินภูเขาไฟไปจีนเริ่มมีเค้าลางเป็นจริงขึ้นมา!

ด้วยความที่ผู้เขียนเป็นเจ้าของสวนทุเรียนดินภูเขาไฟ ที่พอมีพื้นฐานทางภาษาอังกฤษในระดับสนทนาพาทีได้เข้าใจ จึงทำให้การพูดคุยกับพ่อค้าทุเรียนจีนในชื่อ “นายดิง ยี่” และคณะในระหว่างเดินทางบนรถตู้จากสนามบินอุบลราชธานีมุ่งสู่พื้นที่ปลูกทุเรียนดินภูเขาไฟเข้าใจกันได้ไม่ยากนัก แถมการพูดคุยกับเพื่อนใหม่จากแดนมังกรยังออกรสออกชาติเพิ่มพูนให้เกิดมิตรภาพได้อย่างรวดเร็วแทบไม่น่าเชื่อ ทั้งๆ  ที่ทั้งสองฝ่ายอยู่คนละซีกโลกและไม่เคยรู้จักกันมาก่อนด้วยซ้ำ!

“ดิง ยี่” บอกว่า ตัวเขาเองทำธุรกิจนำเข้าผลไม้จากทั่วทุกมุมโลกไปขายในตลาดจีน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก ผู้บริโภคจีนเป็นตลาดใหญ่มาก…มหึมาจริง ๆ…เขาย้ำ  และผู้บริโภคชาวจีนสนใจซื้อผลไม้ที่เขาสรรหามากจากทั่วโลกเป็นอย่างดี

จากที่พ่อค้าจีนรายนี้ฉายภาพธุรกิจนำเข้าผลไม่ใหญ่โตที่ประเทศจีน แถมพรีเซนต์โปรไฟล์ตัวเองซะเริ่ดหรู ทั้งการทำธุรกิจฟาร์มปศุสัตว์และฟาร์มปลูกพืชทางการเกษตรรายใหญ่ ยิ่งทำให้เจ้าของทุเรียนดินภูไฟในพื้นที่หลังเขาพนมดงรัก ยิ่งหัวใจพองโตขึ้นมาทันที..

ฝันที่อยากจะเป็นเถ้าแก่ส่งออกทุเรียนดินภูเขาไฟไปให้พี่น้องชาวจีนได้ชิมรสชาติแสนอร่อย “กรอบนอก นุ่มใน หวานน้อย กลิ่นไม่ฉุน” ก็งานนี้ละ!

“หลิวเหลียน” คือ ภาษาที่คนจีนเรียกชื่อทุเรียน เป็นภาษาจีนคำแรกๆ ที่เจ้าของสวนทุเรียนดินภูเขาไฟบ้านนอกคอกนาได้เรียนรู้จากเพื่อนใหม่จากแดนมังกรรายนี้ และทันทีที่รถตู้วิ่งผ่านเข้าสู่เส้นทางพื้นที่ปลูกทุเรียนดินภูเขาไฟบ้านซำขี้เหล็ก พ่อค้าทุเรียนชาวจีนถึงกับตกตะลึง เมื่อพบเห็นสวนทุเรียนฯ แปลงใหญ่สวนแรก ซึ่งเป็นสวนทุเรียนของเพื่อนเก่าในวัยเยาว์ เสี่ยกุ้ย เจ้าของสวนทุเรียนดินภูเขาไฟน้องสตางค์ ในวันนั้นต้นทุเรียนกำลังให้ผลผลิตทุเรียนต้นฤดู มีทุเรียนหลงฤดูลูกใหญ่ให้เห็นบ้างแต่ไม่มาก มีลูกทุเรียนขนาดเท่ากำปั้นจำนวนมาก และทุเรียนบางต้นกำลังออกดอกบานสะพรั่ง!

ปกติภายในสวนทุเรียนดินภูเขาไฟของชาวสวน จะมีการปลูกผลไม่ชนิดอื่นแซม เพื่อเก็บกิน แบ่งปันให้เพื่อนบ้านหรือหากได้ผลผลิตมาก ชาวสวนก็จะนำออกขาย ซึ่งในสวนน้องสตางค์ปลูกต้นมะยงชิด พันธุ์ทูลเกล้าฯ ของสมเด็จพระเทพฯ อยู่หลายต้น กำลังออกลูกเหลืองอร่าม

ตรงนี้กลายเป็นจุดสนใจเป็นพิเศษของพ่อค้าผลไม้ชาวจีนขึ้นมาทันที ถามไถ่และถ่ายภาพมะยงขิดกันยกใหญ่ แถมพอได้ชิมรสชาติหอมหวานกลมกล่อมของมะยงชิด ทำให้พวกเขาสนใจผลไม้ชนิดนี้ขึ้นมาทันที โดยเล่าด้วยความตื่นเต้นว่า เขาหาผลไม้ชนิดนี้มานาน ที่ประเทศจีนเรียกมะยงชิดว่า “ผีผ่าม่า”

เหตุการณ์ที่สวนทุเรียนดินภูเขาไฟน้องสตางค์ในวันนั้น กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้พ่อค้าทุเรียนจีนสนใจ “ผีผ่าม่า หรือมะยงชิด” ขึ้นมาทันทีทันใด และสอบถามรายละเอียดว่า มีสวนที่ไหนบ้างปลูกมะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้าฯ เขาสนใจนำเข้าไปขายที่ตลาดประเทศจีน

ความสนใจของพ่อค้าชาวจีนพุ่งเป้าไปที่มะยงชิด วินาทีนั้นผู้เขียนก็รับลูกทันควัน เพื่อไม่ให้เสียโอกาสทอง เพราะสวนมะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้าฯ สมเด็จพระเทพฯ แปลงใหญ่สุดในพื้นที่อีสานใต้ เป็นสวนมะยงชิดในพื้นที่บ้านโนนเดื่อ ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเจ้าของสวนมะยงชิดที่ว่าก็ใช่ใครอื่นไกล “สรรญเสริญ บัวใหญ่” คือหลานแท้ ๆ ที่เห็นกันมาตั้งแต่เด็กของผู้เขียนนั่นเอง

เอาละวะ..ผู้เขียนคิดในใจว่า  โอกาสที่จะส่งออกทุเรียนดินภูเขาไฟพ่วงมะยงชิดนำเงินหยวนเข้ากระเป๋า ส่อเค้าเป็นจริงขึ้นทุกที จะเป็นชะตาฟ้าลิขิตให้ ”บักหำน้อย” จากแดนอีสานกลายเป็นเถ้าแก่ใหญ่ก็ครั้งนี้ละ!

การสนทนากับเพื่อนใหม่จากแดนมังกร ดูเหมือนว่า เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วดุจพลิกฝ่ามือจอมยุทธ์หนังกำลังภายใน เพราะวันแรกที่ได้ต้อนรับคณะพ่อค้าผลไม้จากประเทศจีน มีเวลาเข้าชมสวนทุเรียนดินภูเขาไฟเพียงสวนเดียวก็หมดวัน จึงส่งเพื่อนใหม่จากแดนไกลไปพักผ่อนที่รีสอร์ทในตัวเมืองอำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ

พร้อมกับนัดหมายพบกันในเช้าวันรุ่งขึ้น เพื่อเดินทางไปชมสวนมะยงชิดแปลงใหญ่ของหลานชายของผู้เขียน..พร้อมรอคำสั่งซื้อมะยงชิดล็อตใหญ่ส่งตลาดจีน..ด้วยใจระทึก! (โปรดติดตามตอนที่ 3)


โดย..โปรทุเรียน

แสดงความคิดเห็น

บทความล่าสุด

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,16…

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หว…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำ…

บทความแนะนำ

VIEW ALL

กรมชลทุ่มงบ1.16พันล้านผุดอ่างห้วยคะนานแก้น้ำแล้งหนองบัวลำภู

กรมชลฯ มุ่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ ลุยปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ใช้งบลงทุน 1,160 ล้านบาท …

กรมชลชู 10 แผนแก้น้ำแล้งจ.หนองคาย

กรมชลฯ ได้ข้อสรุปปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ชู 10 กิจกรรม หวังเพิ่มประ…

กรมชลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพอ่างลำปาวเพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวั…